โลกร้อน…ปัญหาธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
ทุกท่านคงได้ยินเรื่อง ภาวะโลกร้อน กันมานานแล้วใช่ไหมครับ ภาวะโลกร้อน เกิดจากก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้อุณภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำทะเล ไปจนถึงทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายอย่าง ส่งผลกระทบต่อพืช สัตว์ และมนุษย์ทั่วโลก ในเมืองไทยหลายปีมานี้เราก็พบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ ยังไม่นับภัยแล้งและน้ำท่วมที่สร้างความเดือดร้อนในหลายจังหวัด ในประเทศอื่นล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วมพันคนแล้ว
ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด แต่ที่เป็นตัวการใหญ่ของภาวะโลกร้อน คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมในยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม จากรายงานของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ ระบุว่า จีนกลายเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดในโลกประจำปี 2552 แซงหน้าแชมป์หลายสมัยอย่างสหรัฐอเมริกาไปแล้ว โดยจีนใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ ซึ่งถ้าหากเทียบเป็นน้ำมันจะเป็นจำนวนถึง 2,252 ล้านตัน! ส่วนสหรัฐฯ ที่ตามมาเป็นอันดับสอง ใช้ไป 2,170 ล้านตัน!
นี่แค่ 2 ประเทศนะครับ ถ้ารวมทั้งโลกปริมาณพลังงานที่ถูกตักตวงจากโลกขึ้นมาใช้ก็ยิ่งมากมายมหาศาล และนั่นก็หมายถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอย่างมากมายมหาศาลเช่นกัน แล้วจะไม่ให้โลกร้อนอย่างไรไหว
การที่รถยนต์ที่มีอยู่หลายร้อยล้านคันบนโลกนี้ได้ชื่อว่าเป็นตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัทพยายามคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารถยนต์ประหยัดน้ำมันและปล่อยไอเสียต่ำ หรือ อีโคคาร์ รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ไฮโดรเจนจากน้ำ รวมทั้งรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ทั้งในรูปของรถยนต์ไฮบริดที่ออกมาให้เห็นบนท้องถนนแล้ว และรถที่ใช้พลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนมากยังอยู่ในขั้นการทดลอง
ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น น้ำมันเบนซินอี 85 ไบโอดีเซล และที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นคือ ก๊าซธรรมชาติอัด (compressed natural gas) เรียกย่อๆ ว่า ซีเอ็นจี หรือ เอ็นจีวี (natural gas for vehicles) ถึงแม้ว่าซีเอ็นจีจะเป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบกับน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ซีเอ็นจีก็จัดได้ว่าเป็นพลังงานสะอาด เนื่องจากซีเอ็นจีมีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่า เผาไหม้ได้หมดจดกว่า และลดการปล่อยก๊าซไอเสียต่างๆ ได้มากกว่าครึ่งหรือเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ไทยยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและบางจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ การใช้ซีเอ็นจีจึงน่าจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ด้วยครับ
ประเทศไทยเริ่มมีการทดลองใช้ซีเอ็นจีในรถยนต์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2527 และมีการนำมาใช้ในรถเมล์และรถแท็กซี่บางส่วน จนกระทั่งเมื่อเกิดภาวะวิกฤตน้ำมันแพงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปจึงเริ่มหันมาติดตั้งระบบซีเอ็นจีกันมากขึ้น และผู้ผลิตรถยนต์ก็เริ่มผลิตรถที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและซีเอ็นจีออกมาด้วย แต่ถ้าพูดถึงรถที่ใช้ซีเอ็นจีล้วนๆ ก็มี ทาทา ค่ายรถจากอินเดีย เป็นรายแรกในเมืองไทยครับที่ผลิตรถปิคอัพที่ใช้พลังงานซีเอ็นจีเพียงอย่างเดียว โดยคำนึงถึงการประหยัดค่าเชื้อเพลิงของผู้ใช้งาน และผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 4 หลักการบริหารธุรกิจที่กลุ่มทาทายึดมั่นมาตลอด ได้แก่ ธรรมาภิบาล ความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน โดยค่านิยมสำคัญขององค์กรคือ “ได้มาหนึ่งส่วน ต้องตอบแทนกลับคืนสู่สังคมหลายเท่าทวีคูณ”
นอกจากการพัฒนารถยนต์ซีเอ็นจีให้คนอินเดียและประเทศอื่นๆ ได้ใช้แล้ว ที่ผ่านมา ทาทาได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการพัฒนารถยนต์ที่มีราคาถูกที่สุดในโลก คือ “ทาทา นาโน” ที่ทำให้ครอบครัวชาวอินเดียผู้มีรายได้น้อยสามารถมียานพาหนะที่ทำให้การเดินทางมีความความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น พร้อมกันนี้นาโนยังเป็นรถที่สร้างมลพิษต่ำ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของยุโรปอีกด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า ด้วยแนวคิดแบบ “ธุรกิจสีขาว” เช่นนี้จึงทำให้กลุ่มทาทาสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีที่ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างสูงจากประชาชนและแวดวงธุรกิจของอินเดียมานับศตวรรษ และสามารถขยายกิจการอย่างมั่นคงไปทั่วโลก
การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังต้องดำเนินต่อไป เชื่อว่าทั้งทาทาและค่ายรถยนต์ต่างๆ จะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้ครับ