ปัจจุบันถือเป็นโลกยุคดิจิทัล เราได้เห็นแล้วว่า “นวัตกรรม” นับเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ เนื่องจากนวัตกรรมจะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการปรับตัวหรือเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรองรับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเทคโนโลยี การแข่งขัน ความต้องการของลูกค้า กฎระเบียบภาครัฐ และการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
นวัตกรรมมีหลายประเภท จำแนกได้ดังต่อไปนี้ นวัตกรรมพลิกโลก (Disruptive Innovation) นวัตกรรมเชิงประยุกต์ (Application Innovation) นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) นวัตกรรมด้านกระบวนการ (Process Innovation) นวัตกรรมด้านการตลาด (Marketing Innovation) นวัตกรรมด้านรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model Innovation) และนวัตกรรมเชิงโครงสร้าง (Structural Innovation)
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ นวัตกรรมพลิกโลก (Disruptive Innovation) กันครับ โดยนวัตกรรมที่จัดอยู่ในประเภทนี้จะต้องเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร ทั้งในด้านการทำให้เกิดตลาดใหม่ เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจรูปแบบใหม่ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นการทดแทนของเก่า เช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ โดยจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและถาวร
ทั้งนี้ จากการเกิดขึ้นของนวัตกรรมพลิกโลกในปัจจุบัน อาทิ สมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี อินเทอร์เน็ต เป็นต้น จึงเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคต่อธุรกิจไทยที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับความสามารถในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ทั้งในด้านช่องทาง รูปแบบและคุณภาพ ซึ่งมีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในเชิงพื้นที่ อาชีพ เพศ และอายุที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน นอกจากนั้น การให้บริการของผลิตภัณฑ์จะเป็นการผสมผสานทั้งด้านกายภาพ (Physical) และคุณลักษณะดิจิทัล (Digital) และจะต้องดำเนินธุรกิจสอดรับกับนโยบายภาครัฐยุคที่มี กสทช. หรือยุคหลอมรวมสื่อทุกช่องทางเข้าด้วยกัน
จากข้อมูลบ่งชี้ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคนวัตกรรมพลิกโลกทางด้านดิจิทัลแล้ว เนื่องด้วยในจำนวนประชากร 68 ล้านคน เรามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 54 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 68 ล้านเครื่อง และมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงถึง 37 ล้านเครื่อง ดังนั้นสื่อออนไลน์กำลังกลายเป็นสื่อหลัก โดยมีสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยี 3G 4G เป็นช่องทางหลัก
นอกจากนี้ นวัตกรรมอุปกรณ์ของธุรกิจในปัจจุบันยังแข่งกันที่ความง่ายในการใช้งาน (Ease of Use) โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ คนสูงอายุ ทารก หรือคนไม่มีการศึกษาก็สามารถใช้ได้หมด ดังนั้นคุณสมบัติประการสำคัญที่ขาดไม่ได้ของอุปกรณ์ในยุคนี้คือ เป็นเทคโนโลยีไร้สาย (Wireless) และสามารถรองรับเทคโนโลยียุคอนาคตทั้ง 3G 4G WiFi หรือ WiMax เป็นต้น
ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีความอัจฉริยะมากกว่าโทรศัพท์มือถือธรรมดา ทั้งในด้านความสามารถในการค้นหาที่ดีกว่าถึง 50 เท่า มีพื้นที่ข้อมูลรองรับมากกว่า 30 เท่า มี App Store มี Location & Motion Sensory รองรับ 2G 3G 4G หรือ WiFi รวมถึงความสามารถในการถ่ายวิดีโอ ถ่ายทอดสดแบบไลฟ์สตรีม และอีกมากมาย
ยิ่งไปกว่านั้น นวัตกรรมยุคใหม่นี้ยังมีคุณลักษณะพิเศษในการหลอมรวมสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) และสื่อสมัยใหม่ (Digital Media) ผ่านช่องทาง Internet Web 2.0 และ Social Media โดยสมาร์ทโฟนจะหลอมรวมสื่อแบบ Hand-held ในขณะที่สมาร์ททีวีจะหลอมรวมสื่อ แบบ Living Room
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้พฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสื่อแบบดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ไม่มีการปรับตัว ทำให้ต้องล้มหายตายจากไปจากบรรณพิภพอย่างน่าเสียดาย เรียนตามตรงครับว่า เมื่อก่อนผมต้องอ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อยวันละ 5 ฉบับ แต่ปัจจุบัน ฉบับเดียวก็แทบจะไม่ได้อ่านแล้วครับ เพราะมีสื่อดิจิทัลให้ติดตามได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทุกเวลา
ดังนั้น นักการตลาดจึงต้องผสมผสานการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ 3 จอ (3 Screen Marketing) นั่นคือ ทีวี คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ หลอมรวมผสมผสานระหว่าง 3 จอให้เป็นจอเดียวกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการช่วงชิงตลาดโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาทในประเทศไทยปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้สื่อดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนสื่อดั้งเดิม อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ โดยอาชีพนักการตลาดดิจิทัลจะเป็นที่นิยมมากขึ้น และจะได้งบโฆษณามหาศาลจากสื่อดั้งเดิม ด้วยคุณสมบัติพิเศษของสื่อดิจิทัลในด้านการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่สูงขึ้นต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ในอนาคตจะเป็นยุคของการแข่งขันที่มุ่งเน้นผลิตคอนเทนต์ทางด้านวัฒนธรรม คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับชุมชน รวมไปถึงสินค้าและบริการที่ต้องการ Local Celebs มากขึ้น
พูดถึงธุรกิจที่มีอันต้องอันตรธานไปจากโลกนี้ก่อนวัยอันควร เรามาดูกันครับว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่จะหายไปจากโลกนี้ เนื่องจากการเกิดขึ้นของนวัตกรรมพลิกโลก
1.คอลัมนิสต์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็นิยมอ่านสาระความรู้และความบันเทิงจากอินเทอร์เน็ตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบทความออนไลน์ในเว็บไซต์ หรือจะเป็นการอ่านรีวิวต่าง ๆ ตามเว็บบล็อกและเว็บบอร์ด จึงทำนายได้ง่าย ๆ เลยว่า “อาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะหายไปในไม่ช้า” โดยจะเห็นจากเจ้าของนิตยสารที่ต่างก็ปิดกิจการหรือหันไปเน้นสื่อออนไลน์แทนนั่นเอง นอกจากพวกนิตยสารจะหายไปแล้ว หนังสือพิมพ์ก็มีสิทธิ์จะหายไปในไม่ช้า เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็หันไปเสพข่าวจากเว็บข่าวออนไลน์กันมากขึ้น เพราะการอ่านข่าวในโซเชียลจะรวดเร็วกว่า เลือกอ่านได้ แถมไม่เสียตังค์ด้วย
2.คนขับรถแท็กซี่ ตอนนี้ที่สิงคโปร์เริ่มมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้รถสามารถขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องใช้คนขับรถแล้ว โดยใช้ระบบ LIDAR ซึ่งเป็นระบบเหมือนกับเรดาร์ แต่ใช้แสงเลเซอร์แทนของบริษัท NuTonomy ซึ่งหากจะมองให้ล้ำไปอีก ในอนาคตอาจจะไม่มีคนขับรถไฟฟ้า คนขับรถโดยสารประจำทาง รวมไปถึงรถยนต์ที่เรานั่ง ๆ กันอาจไม่ต้องใช้คนขับแล้วก็ได้
3.หนุ่มสาวโรงงาน ย้อนกลับไปหลายทศวรรษที่แล้ว มนุษย์ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอุตสาหกรรมราวกับว่าเป็นหุ่นยนต์ แต่ถ้าเป็นทศวรรษหน้า เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์ที่ทำงานเสมือนมนุษย์ เพราะการพัฒนา AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ได้ก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้หลายประเทศเริ่มนำเอาหุ่นยนต์มาเป็นเครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์แล้ว
4.พนักงานแคชเชียร์ ตอนนี้ในหลาย ๆ ประเทศเริ่มทยอยมีเครื่องคิดเงินอัตโนมัติกันแล้ว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ในอนาคตเราจะไปซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า เคาน์เตอร์โรงแรม ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ แบบที่ไม่มีพนักงานแคชเชียร์ให้เราแล้วก็ได้
5.พนักงานส่งจดหมายและพัสดุ ในอนาคตคงมีการใช้บริการขนส่งของทางไปรษณีย์น้อยลง เพราะคนคงไม่นิยมส่งจดหมาย แต่หันมาใช้อีเมล์กันหมด ส่วนของพัสดุต่าง ๆ ก็อาจมีการส่งของที่เร็วขึ้นผ่านทางบริการที่ทันสมัย อย่างตอนนี้เว็บไซต์ขายสินค้าระดับโลกอย่าง Amazon ก็มีบริการส่งของผ่านเครื่องบินบังคับ หรือโดรนกันแล้วด้วย เรียกได้ว่า ได้ของรวดเร็วทันใจ ไม่กี่นาที ของก็มาส่งถึงหน้าบ้านท่านแล้ว
นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าด้วยเรื่องอาชีพที่จะหายไปจากการเกิดขึ้นของนวัตกรรมพลิกโลก เชื่อว่ายังมีอีกหลากอาชีพ หลายธุรกิจที่จะล้มหายตายจากไปจากโลกนี้ ตราบใดที่ไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัล เลือกเอาครับ ว่าคุณจะอยู่ในโลกยุคอนาล็อกต่อไป หรือจะก้าวไกลไปกับโลกยุค