เพื่อให้เข้าบรรยากาศของไฮคลาสฉบับนี้ที่สัมภาษณ์บุคคลระดับ ‘ลูกผู้บริหาร หลานพ่อค้าวานิช’ จึงควรหยิบยกหัวข้อนี้มาสนทนากันสบายๆ ว่า ในทางธรรมนั้นควรเป็นเศรษฐีหรือไม่ และมีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นมหาเศรษฐีรึเปล่า น่าสนใจทีเดียว!
ย้อนไปในสมัยพุทธกาล มีฆราวาสผู้ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีอยู่หลายคน และบรรลุธรรมขั้นพระโสดาบัน แต่ที่เป็นเอกและได้รับการยกย่องอย่างสูง คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เกิดในตระกูลมหาเศรษฐีในเมืองสาวัตถี มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เดิมชื่อ ‘สุทัตตะ’ แต่ด้วยความเป็นคนใจบุญสุนทาน ตั้งโรงทานหน้าบ้านแจกอาหารแก่คนยากจนทุกวัน ประชาชนจึงเรียกท่านว่า ‘อนาถบิณฑิกะ’ หมายความว่า ‘ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา’ และเรียกกันมาจนลืมชื่อเดิมไปเลย
ครั้งแรกที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ยินคำว่า ‘พระพุทธเจ้า’ จากเพื่อนมหาเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ถึงกับต้องทวนคำว่า ‘พระพุทธเจ้า’ ถึงสามครั้ง และเกิดปีติศรัทธาอย่างแรงกล้า เพียงครั้งแรกที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ประกาศตนเป็นพุทธมามกะตลอดชีวิต และได้สร้างวัดพระเชตวันถวาย ส่วนกิจการก็โอนให้ลูกหลานดำเนินการต่อ แสดงว่า การเป็นลูกผู้บริหาร หลานพ่อค้าวานิชก็มีมาหลายพันปีแล้ว
ตัวอย่างของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก้าวข้ามสิ่งที่เราได้เห็นในระดับ เศรษฐี มหาเศรษฐี และอภิมหาเศรษฐี นั่นคือ ท่านได้เป็นเศรษฐีมหาศาล เนื่องจากมีคำว่า ‘พอ’ อยู่ในใจ บุคคลใดก็ตามมีหัวใจแห่งความพอเพียง นั่นเท่ากับความมั่งคั่ง เพราะเป็นบุคคลที่เต็มแล้ว อิ่มแล้ว เพียงพอแล้ว เป็นการส่งสัญญาณสู่จักรวาลว่าเป็นเศรษฐีมหาศาล มีความร่ำรวยประเภทเหลือเฟือ และจักรวาลก็จะจัดเรียง คือ ส่งคืนความอุดมสมบูรณ์และความพอเพียงกลับมาให้
ในทางกลับกัน มหาเศรษฐีหรือใครก็ตามที่ยังรู้สึกว่าไม่พอ ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ยังต้องต่อยอดความรวย เงินต่อเงิน บุคคลเหล่านั้นเท่ากับเป็นขอทาน เพราะได้ส่งสัญญาณออกสู่จักรวาลว่าเป็นผู้ขาดแคลน ยังเป็นผู้อยากได้ อยากมี อยากเป็น และธรรมชาติก็จะสนองกลับคืนมา ส่งผลให้แม้จะเป็นผู้ร่ำรวยมากมายเพียงใดก็ตาม แต่จะหาความสุขใดๆ ไม่ได้เลย แม้ว่าจะมีชีวิตอยู่บนกองเงินกองทองมากมายที่ใช้ไปกี่ชาติก็ไม่หมดก็ตาม
โจ วิเทล ได้กล่าวไว้ในหนังสือสุดยอดเดอะซีเคร็ต (The Meta Secret) ว่า ความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ คือ การทำสิ่งที่เรารัก ทำตามเสียงเรียกร้องในใจเรา มีความสุขกับชีวิต พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และตระหนักในความจริงที่ว่า ความจริงเรามีความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อเรามีสองสิ่งนี้มากพอ เราจะเปิดใจกว้างเพื่อให้มันเข้ามาสู่ชีวิต และเราก็จะร่ำรวยและอุดมสมบูรณ์มากกว่าเดิม
ปีก่อนผมได้รับเชิญไปบรรยายที่สิงคโปร์ในหัวข้อ ‘Why money cannot buy happiness?’ โดยมีคนสิงคโปร์นับพันเข้าฟัง จึงต้องเตรียมข้อมูลไปบรรยายแบบฟุดฟิดฟอไฟ ค้นงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากนิตยสาร Forbes น่าสนใจมาก ซึ่งได้สำรวจระดับความสุขของมหาเศรษฐี 400 อันดับแรกของโลกที่มีสินทรัพย์รวมกันเท่ากับคนเกือบครึ่งโลก แต่กลับมีความสุขอยู่ในระดับเดียวกันกับชาวเผ่ามาไซในทวีปอาฟริกา ที่ไม่มีบ้าน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า ทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายมีผลเพียง 1% กับความสุขของคน แต่เราๆ ท่านๆ ก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตวิ่งไล่จับและสะสมของปลอมๆ นี้เอาไว้
ดร. เมล กิลล์ ผู้เขียนหนังสือสุดยอดเดอะซีเคร็ตเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะสิ้นพระชนม์ได้สั่งให้ทหารคนสนิททำสิ่งที่แปลกประหลาด 3 ข้อ คือ ข้อแรก ให้หมอที่ดีที่สุดในอาณาจักรที่พระองค์ทรงครอบครองแปดคนมาแบกโลงพระศพแทนทหาร ข้อสอง ให้เอาเพชรนิลจินดาทั้งหลายที่ไปยึดมาจากอาณาจักรต่างๆ ทั่วโลกมาโรยบนเส้นทางตั้งแต่พระราชวังไปจนถึงสุสานหลวง และข้อสุดท้าย ให้เอาพระหัตถ์ของพระองค์ยื่นออกมานอกโลงให้ประชาชนได้เห็น
แม้จะกลัวพระอาญา แต่ทหารคนสนิทอดไม่ได้ จึงทูลถามว่าทำไมจึงมีพระประสงค์เช่นนั้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชตรัสตอบว่า ข้อแรก การที่ให้หมอที่เก่งที่สุดมาแบกโลงศพนั้น เพื่อแสดงว่าแม้มีหมอหลวงที่ดีที่สุดอยู่ใกล้ตัวแต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ เมื่อธรรมชาติทวงคืนลมหายใจ ทุกคนต้องตาย ข้อสอง เพชรนิลจินดาที่ไปยึดมาจากดินแดนแสนไกล มีมูลค่ามากเพียงใดก็ไร้ค่า ไม่ต่างจากก้อนหินดินทรายที่กองอยู่บนถนน และข้อสุดท้าย คนเราทุกคนมามือเปล่า เมื่อจากไปก็ไปมือเปล่ากันทุกคน เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว
ได้ฟังเรื่องเหล่านี้ น่าจะฉุกคิดว่าพวกเราควรพอกันได้แล้ว ควรทำตัวเป็นเศรษฐีมหาศาลกันได้แล้ว ทั้งนี้คำว่า satisfaction พึงพอใจ มาจากภาษาละตินว่า ‘soctis’ หมายถึง พอเพียง เท่ากับความมั่งคั่ง
สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับมหาเศรษฐีและลูกหลานมหาเศรษฐี ‘ตัวจริง’ ในเมืองไทยที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสคือ ทุกคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พอเพียง ไม่หลงใหลได้ปลื้มไปกับทรัพย์สินที่มีมากมายภายนอก แต่เป็นผู้ที่มีหัวใจแห่งการให้ สมกับเป็น Gen G หรือ Generation Giving คนรุ่นใหม่มีหัวใจแห่งการให้ และเราได้เห็นตัวอย่างของอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งและสองของโลก บิลล์ เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟต์ ผู้บริจาคทรัพย์สินมหาศาลหลายหมื่นล้านเข้าองค์กรการกุศลทั่วโลกด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ เพราะพวกเขาได้สัมผัสแล้วว่า สุขจากการมีนั้น เทียบไม่ได้เลยกับสุขจากการให้
สรุปว่าจะเลือกเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี หรือ เศรษฐีมหาศาล ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่อยากฝากเอาไว้ว่า หัวใจเราจะเป็นสุข เมื่อมันเต้นเพื่อผู้อื่น .. My heart is happy when it beats for others …
ดีใจที่ได้รู้จักกับ เศรษฐีมหาศาลทุกท่านครับ ขอให้คำว่า ไม่มี จงได้พึงเกิดมีกับท่าน ตลอดระยะเวลาที่ต้องเดินทางอันยาวไกลในสังสารวัฏฏ์นี้เลย…
มองว่าการเจริญทานบารมีจนถึงขั้นปรมัตถบารมีเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญค่ะ แต่จะให้ใครทำอธิฐานบารมีแบบไม่ระวังก็กระไรอยู่ อธิฐานให้ได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน หลุดพ้นจากปวงทุกข์และกิเลสดีกว่าค่ะ
ประวัติพระอนุรุทธพระอรหันต์
สมัยถวายภัตแด่พระอุปริฎฐะปัจเจกพุทธเจ้า
ขอจงอย่าได้ยินคำว่า ‘ ไม่มี ’
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-anurootta.htm
ดีมาก ๆๆๆ ค่ะ