การก้าวสู่ยุค อุตสาหกรรม 4.0 จะมีเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ
ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตอย่างสิ้นเชิง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
และเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค อาทิ เครื่องจักรกลที่คิดได้และสื่อสารเป็น
เทคโนโลยี 3D Printing ที่สามารถเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นวัตถุของจริงที่จับต้องได้
หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์เสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง
นอกนั้นยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางทำให้การสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร
และระหว่างเครื่องจักรด้วยกันเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะพลิกโฉมหน้าการผลิตไปมากน้อยเพียงใด
เทคโนโลยีอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์อัจฉริยะจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้
และประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลายแห่งหนึ่งของโลก
ควรปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางใด มีความท้าทายและโอกาสอะไรที่รอเราอยู่บ้าง
เรามาทำความรู้จักกับอุตสาหกรรม 4.0 กันครับ
ย้อนอดีตไปราว 230 ปีก่อน เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สอง
และสามมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงครั้งที่สี่ในปัจจุบัน แต่ละยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอะไรบ้าง มาดูกัน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (Industrial Revolution 1.0)
เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1784 คือ ยุคของการใช้พลังงานจากน้ำ (Hydro Power) แทนการใช้แรงงานคนหรือสัตว์
หรือพลังงานธรรมชาติ เป็นยุคที่เริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีการใช้พลังงานไอน้ำจากถ่านหิน
ในกลุ่มอุตสาหกรรมทอผ้า กังหันน้ำที่สร้างพลังงานสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
หรือการใช้ไอน้ำในรถไฟหัวจักรไอน้ำ เป็นต้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (Industrial Revolution 2.0)
เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1870 เป็นการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำมาใช้พลังงานไฟฟ้า
ส่งผลให้สามารถปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตมาเป็น
ระบบโรงงาน ทำให้เกิดการผลิตสินค้าคราวละมากๆ และมีคุณภาพที่เทียบเท่างานหัตถกรรม
ที่สำคัญคือ สินค้าราคาไม่แพง ทุกคนสามารถบริโภคได้ ทำให้เกิดกระแสบริโภคนิยมไปทั่วโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 (Industrial Revolution 3.0)
เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1969 เป็นยุคของการใช้อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีไอทีในการผลิต
มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ
หรือหุ่นยนต์ในการผลิต แทนที่แรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industrial Revolution 4.0)
คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ
สามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง
พูดง่ายๆ คือ โรงงานยุค 3.0 สามารถผลิตของแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาสั้นๆ
แต่โรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน
ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละรายเป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว
โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลครบวงจร แบบ ‘Smart Factory’
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่าย
ในรูปแบบ ‘Internet of Things (IoT)’ ทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร
เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หน่วยต่างๆ เหล่านี้จะถูกติดตั้งระบบเครือข่าย
เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างอิสระ เพื่อการจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมด
จุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 คือการที่เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมโยง
เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเครือข่ายผ่านอินเทอร์เน็ต จึงสามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารถึงกันหมด
รวมทั้งสามารถใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกันได้
เครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานด้วยตนเอง
ความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิต มีความสามารถในการตรวจสอบและคาดการณ์ล่วงหน้าได้
นอกจากนี้ เครื่องจักรในอนาคตจะมีโปรแกรมสำหรับตรวจสอบและดูแลสุขภาพของเครื่องจักร
เพื่อยืดอายุการทำงานของเครื่องจักร อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการผลิตและ
ประเมินประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร กล่าวคือ เครื่องจักรจะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากตัวเครื่องจักรที่เป็นอัจฉริยะแล้ว โรงงานในยุค 4.0 ก็จะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นด้วย
โดยที่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory จะสามารถกำหนดระบุกิจกรรม เงื่อนไข รวมทั้ง
สภาพแวดล้อมของการผลิต สามารถสื่อสารกับหน่วยอื่นๆ ได้อย่างอิสระแบบไร้สาย
สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น เวลา ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง
การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ เป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
อย่างที่บอกครับ จุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักรและ
ระบบในลักษณะ Industrial automation เพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภครายบุคคล
แต่ยังรักษาประสิทธิภาพการผลิตที่สูงในระดับเดียวกับการผลิตแบบคราวละมากๆ อาทิ
การผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีการพิมพ์ 3D การพัฒนาระบบ smart grid
การแพทย์สาขา telemedicine เป็นต้น
ดังนั้น เทคโนโลยีออโตเมชัน จึงกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตของ
ภาคอุตสาหกรรมอย่างมากในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นี้ สำหรับประเทศไทยควรจะปรับตัวและ
นำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาช่วยงานในการผลิตให้มากขึ้นและเหมาะสม
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ
รศ.พิชิต ลำยอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่เป็นออโตเมชัน
มีส่วนช่วยในการลดต้นทุนด้านแรงงาน เนื่องจากสามารถทดแทนการทำงานบางอย่างของมนุษย์ได้
และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการนำระบบออโตเมชันมาใช้งาน
แล้วตลอดหลายสิบปีที่ผ่าน แต่เป็นไปในลักษณะการใช้งานเฉพาะบางส่วน ไม่ใช่เต็มรูปแบบ
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอถึงขั้นที่จะสามารถผลิตเทคโนโลยีใช้งานได้เอง
ประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ตราบใดที่คนไทยยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้เอง
เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด สาระสำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องมองให้ออกว่าโลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอะไร
ที่เราสามารถหยิบมาใช้งานกับการผลิตของเราบ้าง และเรามีจุดเด่นอะไรที่สามารถต่อยอดให้ถึงขีดสุดได้บ้าง
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานต้องรู้จักเลือกใช้ในงานที่สามารถต่อยอดและเป็นจุดเด่นของประเทศ
ซึ่งอุตสาหกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของเราคืออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เราจึงควรผลักดัน
นำเอาระบบอัตโนมัติเข้าไปพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น
ตั้งแต่กระบวนการผลิต ลำเลียงวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เป็นต้น
แม้แต่ด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ก็มีความจำเป็นต้องนำออโตเมชันมาใช้กับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น
เราควรนำออโตเมชันมาใช้งานกับการเกษตรอย่างชาญฉลาด ให้ครบวงจร ตั้งแต่
กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การผลิต แปรรูป การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง เป็นต้น เรียกว่า
เป็นการนำระบบออโตเมชันมาใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
เราต้องมองข้ามการผลิตสินค้าสำหรับบริโภคเฉพาะในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค
แต่ต้องมองไปให้ไกลให้สินค้าเป็นสินค้าที่คนทั่วโลกต้องใช้ เราต้องเข้าใจว่าความสามารถและ
ศักยภาพของเราเหมาะสมกับด้านไหน เก่งด้านไหน และสามารถนำออโตเมชันมาใช้
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร เป็นการดึงศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทยมาพัฒนาโดย
ใช้ออโตเมชันเป็นเครื่องมือ
หากเราไม่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชันเข้ามาช่วยในการผลิต เราจะไม่สามารถขับเคลื่อน
ศักยภาพของประเทศไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับโลกได้
Marketeer Magazine
Feb 2016 (P.164-165)