นับจากพม่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทิศทางที่เสรียิ่งขึ้น และเริ่มเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ จนได้รับการผ่อนคลายการคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจพม่าค่อนข้างมาก
สอดคล้องกับที่พม่าเร่งปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงิน เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกทั้งการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะมอบสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งการยกเครื่องระบบการเงินของประเทศใหม่ เริ่มจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอัตราลอยตัวแบบมีการจัดการ และการเร่งปรับปรุงระบบการชำระเงินของประเทศสู่มาตรฐานและความเป็นสากลยิ่งขึ้น
เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อมุมมองและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ให้หันมาสนใจและแสวงหาโอกาสการเข้าสู่ตลาดพม่า เห็นได้จากการหลั่งไหลของนักลงทุนต่างชาติเข้าไปในพม่าอย่างคึกคัก นับจากช่วงต้นปี 2555 เป็นต้นมา เพราะรัฐบาลมีความพยายามอย่างมุ่งมั่นจริงจังในการเปิดประเทศ ผ่อนคลายกฏเกณฑ์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่สำคัญ พม่าได้ศึกษาความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศต่างๆ ในการเปิดประเทศและการส่งเสริมการลงทุน
พม่ารู้ดีว่าประเทศต้องการอะไร การเมืองที่มั่นคงและพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน แก้ปัญหาสังคมอย่างลงตัว พม่าจึงมีความพร้อมในการคัดเลือกนักลงทุนจากทั่วโลกที่ทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และเป็นนักพัฒนาตัวจริง
ดังนั้น “ไทย” ในฐานะที่เป็นทั้งสมาชิกอาเซียนเช่นเดียวกับพม่า และยังเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดต่อกันเป็นระยะทางยาวที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านถึง 2,401 กิโลเมตร จึงไม่ควรพลาดจังหวะเวลาสำคัญที่จะขยายตลาดการค้าการลงทุนในพม่าก่อนคู่แข่งจากตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
หาก พ.ร.บ.การลงทุนฉบับใหม่ที่เน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์จากภาษีมีผลบังคับใช้ (อาทิ การงดเว้นเก็บภาษีเป็นเวลา 8 ปีสำหรับธุรกิจต่างชาติ) ก็คาดว่าจะกระตุ้นให้แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น
นอกจากนี้ แผนการเปิดด่านถาวรไทย-พม่าเพิ่มขึ้นก็น่าจะยิ่งเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาดพม่า และน่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไม่ควรมองข้าม ด้วยการหาแนวทาง ในการเข้าถึงตลาดพม่าให้ได้โดยเร็ว
“ถึงก่อนย่อมมีสิทธิ์ในการช่วงชิงตลาดก่อน”
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนในพม่าที่น่าสนใจ ได้แก่
สินค้าอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสินค้าไทยที่พม่ายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าจากไทย 15 รายการ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา) หลังจากที่ห้ามมานานกว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง อาหารกระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป เหล้า เบียร์ และบุหรี่ เป็นต้น น่าจะได้รับผลดีด้านการส่งออกจากการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าที่คาดว่าจะเติบโตในระดับเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนความต้องการเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในพม่า ซึ่งสินค้าไทยค่อนข้างได้รับความไว้ใจและเชื่อถือในเรื่องคุณภาพและตราสินค้าในตลาดพม่า จึงเป็นโอกาสที่สินค้าอุปโภคบริโภคจะขยายตลาดการค้า ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า
กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพม่าที่ภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสูงถึงร้อยละ 44 ของ GDP และทางการพม่ายังให้การสนับสนุนการพัฒนาภาคเกษตรกรรม เพื่อให้พม่ามีศักยภาพในการผลิตและส่งออกในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเกษตรสำคัญที่พม่าตั้งเป้าส่งออกเป็น 2 ล้านตันในปี 2556 (จาก 778,000 ตันในปี 2554)
จึงเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรของไทยไปพม่า อาทิ รถไถนาเดินตาม รถแทรกเตอร์ เครื่องพ่นยาฆ่าแมลง เครื่องสูบน้ำ และเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป็นต้น โดยสินค้าไทยในกลุ่มนี้นับว่าได้เปรียบจีนพอสมควรในด้านคุณภาพ และอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ตลอดจนสามารถถอดและประกอบเพื่อซ่อมบำรุงเองได้ง่าย แม้จะแพ้ทาง ด้านราคาต่อจีนก็ตาม
อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่ม ตลอดจนขนมขบเคี้ยวต่างๆ ซึ่งน่าจะมีโอกาสขยายตัวในชุมชนเมืองและเมืองใหญ่ของพม่า อย่างนครเนปิดอร์ กรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองเมียวดี ซึ่งประชาชนในเมืองเศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้มีความสามารถในการจับจ่ายและพฤติกรรมการบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกสบายมากกว่าประชาชนในพื้นที่นอกเขตเมือง
สำหรับสินค้าอาหารที่น่าสนใจขยายตลาดในพม่า ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่ใช้เนื้อไก่เป็นวัตถุดิบ (เพราะชาวพม่าถือว่าวัวเป็นสัตว์ใช้แรงงานที่มีพระคุณ ขณะที่เชื่อว่าการบริโภคเนื้อหมูจะทำให้โชคร้าย จึงทำให้ไม่นิยมบริโภคทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมู) อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เครื่องดื่มอย่างชาและกาแฟ รวมไปถึงน้ำอัดลมที่มีโอกาสจะขยายตัวตามการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในพม่า
ตลาดรถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์อะไหล่ทดแทน ยานพาหนะรถยนต์ที่มีการใช้ในพม่าส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์มือสองที่มีสภาพการใช้งานไม่ดีนัก เนื่องจากชาวพม่ายังมีกำลังซื้อไม่สูง ชาวพม่าจึงนิยมเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์แทนการซื้อรถใหม่ ทำให้สินค้าส่งออกหมวดชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่ไปพม่าขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อ เนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์จักรกลการก่อสร้าง รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ติดตั้งในอาคาร พม่าอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาประเทศหลายด้าน ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาเมืองหลวงใหม่ที่นครเนปิดอว์ และการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆในพม่า ทำให้พม่ามีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่วัสดุก่อสร้างบางรายการพม่ายังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่บางรายการอาจยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตได้ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่อาจเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีน
โอกาสด้านการลงทุน
ธุรกิจท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนไทย เนื่องจากพม่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น เมืองพุกามซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์ (เนื่องจากมีเจดีย์นับหมื่นองค์) หาดงาปาลีในเมืองตานต่วย (Thandwe) ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นหาดที่สวยงามที่สุดของพม่า เป็นต้น
ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลพม่า อีกทั้งพม่ายังมีวาระการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ (ปี 2556) และประธานอาเซียน (ปี 2557) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเดินทางมาพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพม่าขยายตัวถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า)
อย่างไรก็ดี ความพร้อมด้านโรงแรมที่พักและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่ายังไม่เพียงพอและไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมในการขยายลงทุนธุรกิจโรงแรมและที่พัก รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น สปา ฟิตเนส ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก ก็น่าจะมีโอกาสที่ดีด้วยเช่นกัน
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการผลิตวัสดุก่อสร้าง ก็มีโอกาสเติบโตเช่นกันตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจพม่า โดยธุรกิจ SMEs ที่สนใจตลาดพม่า ก็อาจจะเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ที่เข้าไปขยายธุรกิจในพม่าแล้ว หรือ การเข้าไปเป็นผู้รับเหมาช่วงจากผู้รับเหมารายใหญ่ที่ดำเนินการก่อสร้างในโครงการต่างๆ โดยอาศัยอานิสงส์จากการเร่งพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศพม่า โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพในปี 2556 ณ นครเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ผนวกกับการเปิดประเทศและพัฒนาการทางการเมืองของพม่าที่มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำหรับการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม เนื่องจากพม่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ พลังงาน หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่ไทยเริ่มขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพม่าจะมีจุดเด่นหลายอย่างที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังมีอุปสรรคไม่น้อย ที่อาจจะสร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการบ้างพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบการเงินที่คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างเสถียรภาพพอสมควร ตลอดจนข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้า และระบบคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่งเริ่มพัฒนา ประกอบกับการลดภาษีนำเข้าของพม่าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2558
แต่ช่วงเวลานี้ก็นับเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ SMEs ไทยที่จะศึกษาลู่ทางและเข้าดำเนินการในตลาดเป้าหมายก่อน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในตลาดที่มีคู่แข่งน้อยกว่า และเพื่อศึกษาพฤติกรรมและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น พร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจรองรับการแข่งขันในอนาคต น่าจะเป็นทางเลือกที่ดูดีกว่าการพึ่งพิงตลาดที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง ในปัจจุบัน และอาจจะต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีอย่างเช่นยุโรป
กับกระแส AEC ที่กำลังจะมาถึง เราหันมาค้าขายกับเพื่อนบ้านกันเองดีกว่าไหมครับ.
ที่มา: Marketeer ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
พม่าต้องการอะไรจากตลาดในเมืองไทยบ้างล่ะ