วันก่อนที่ชมรมคนรู้ใจ หอประชุมพุทธคยา พระอาจารย์อุทัย ญานุตตโม เจ้าอาวาสวัดป่าห้วยลาด จังหวัดเลย ได้เมตตาแสดงธรรมเรื่อง สติและการทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ด้วยการฝึกบริกรรม “พุทโธ พุทโธ” การทำเช่นนี้เพื่อให้เกิดสติและสมาธิมาแข่งกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน ให้จิตที่ภาวนาค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นแทนความวุ่นวายฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฝึกเช่นนี้จนคุ้นเคย พอมีโอกาสไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จิตก็จะตื่นรู้ได้ง่ายขึ้น
การบริกรรมพุทโธๆ แม้จะเป็นการปรุงแต่งจิต แต่ก็เป็นการปรุงแต่งเพื่อแก้การปรุงแต่งที่วุ่นวาย เพื่อให้เกิดทางเลือกแห่งความสงบขึ้นในใจเรา เป็นเครื่องอาศัยก่อนที่เราจะปล่อยวางเพื่อเข้าสู่จิตที่รวม ด้วยการบริกรรมไปพร้อมกับการใช้สติดูลมหายใจเข้าออก ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนจิตรวม สงบนิ่ง สว่าง เบาสบาย
ความสุขสงบเบาสบายของจิตใจเป็นฐานและเป็นพลังในการดูความจริงของกายเรา เพราะโดยปกติเรามักดูแต่กายคนอื่นจนอาจเตลิดไปเป็นกิเลส การหันกลับมาดูกายเราก็เพื่อให้เห็นความจริงว่าเรานี้อยู่กับโครงกระดูก ร่างกายเราก็คือธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประกอบกันขึ้นเท่านั้นเอง แล้วค่อยๆ เพิกถอนอุปาทานที่เห็นว่ากายเราหรือกายผู้อื่นสวยสดงดงาม ตลอดจนความลุ่มหลงในเสื้อผ้าอาภรณ์ของประดับต่างๆ บรรเทาจากความโลภ โกรธ หลง ได้ระดับหนึ่ง
จิตใจอุปมาเหมือนกับเสื้อผ้า ใส่ออกไปข้างนอกก็เลอะฝุ่นละออง เหงื่อไคลคืออารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาเข้ามา จึงต้องซักเสียก่อนจะนำมาใส่ในวันต่อไป ให้การสร้างสมาธิเป็นงานที่ทำที่ควรทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย แบ่งแยกเรื่องงานกับเรื่องที่บ้านให้ชัดเจน จะได้แยกแยะความคิดให้เป็นระเบียบ การฝึกเช่นนี้เปรียบเหมือนการเตรียมดินเพาะปลูก เพื่อปักดำต้นไม้ คือความสงบระงับ แต่จิตที่สงบรวมก็ยังไม่ใช่ที่สุดของพรหมจรรย์หรือการหมดกิเลส กล่าวคือเป็นเพียงฐานรากที่จะพัฒนาไปสู่ปัญญา คือเห็นรอบในกองสังขารว่ารูป-นามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง
ปัจจุบันนี้มีคนสนใจหันมาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นก็จริงอยู่ แต่ยังมีความคลาดเคลื่อน คือ ผู้ปฏิบัติมักยึดติดกับครูบาอาจารย์ คิดไปว่าเมื่อมาปฏิบัติหรือรับการสั่งสอนชี้แนะจากครูบาอาจารย์บางท่านแล้วจะได้ผลดี จิตอ่อนน้อมคล้อยตาม เกิดความสงบเย็นเบาสบาย สามารถสลัดทิ้งความวุ่นวายรุ่มร้อนได้ แต่ฝึกกับบางท่านกลับไม่เห็นผลหรือรู้สึกขัดแย้งในใจ
ท่านจึงให้ข้อคิดว่า การที่เราฟังครูบาอาจารย์แล้วไม่เห็นด้วย ก็คือจิตของเราปรุงแต่งคัดค้านไปตามจริตนิสัยของเราเอง จึงต้องตระหนักว่า เราปฏิบัติเพื่อให้ใจเย็นสงบ ขจัดความวุ่นวาย ที่สำคัญคือ ใจเราสงบได้ก็ด้วยตัวเราเอง ธรรมะนั้นเกิดกับใจเราโดยอาศัยผู้อื่นชี้แนะหรือแนะนำเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ครูบาอาจารย์เอาไม้มาขูดความวุ่นวายออกจากใจ เปรียบเหมือนการเรียนหนังสือ ครูอาจารย์จะมีบุคลิกท่าทางอย่างไรไม่สำคัญ ขอให้เราเรียนแล้วได้วิชาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ก็เพียงพอ
ในการปฏิบัติธรรมก็ขอให้เรายึดมั่นในธรรมะที่จะชำระกิเลสเราให้เบาบาง ยกระดับจิตใจของเราได้ ตัวบุคคลผู้สอนหรือสถานที่ปฏิบัตินั้นไม่ใช่ปัญหา สำคัญที่เราฟังแล้วต้องมาฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง ถ้าไม่พินิจพิจารณา ยึดติดครูบาอาจารย์หนักเข้าก็จะกลายเป็น “ธรรมเมา” คือเมาในครูบาอาจารย์ มัวเมาในความหลงของจิตใจเราเอง