ว่ากันว่าปีนี้คือปีเสือทอง ที่หลายๆ คนคาดหวังว่าจะเรืองรองกว่าปีที่ผ่านมา นับเป็นเวลาหลายปีที่ธุรกิจน้อยใหญ่ยังคงต้องประคับประคองกันไปให้ถึงเป้าหมาย ที่ฟันฝ่ารอดตัวมาได้ก็นับว่าเก่งและเฮงพอสมควร ด้วยเหตุที่ต้องปรับตัวและทำใจกับหลายเรื่องทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แล้วอะไรคือกลยุทธ์สำคัญที่จะขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมให้ก้าวเดินต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบตัวเช่นนี้
วันก่อน ได้มีโอกาสอ่านข้อมูลทิศทาง CSR ปี 2553 ซึ่งเป็นข้อมูลจากสถาบันไทยพัฒน์ ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของซีเอสอาร์จากปี 2552 สู่ปี 2553 รวมถึงการวางตำแหน่ง (Repositioning) ซีเอสอาร์ขององค์กร เพื่อสร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่าอย่างแท้จริงในระยะยาว ลองมาดูกันว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เราได้ทำทั้งธุรกิจและดูแลสังคมควบคู่กันไปได้อย่างไม่หลงทาง
ประการแรก ธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณท์และบริการที่เน้นเรื่อง Green Concept มากขึ้น ดังนั้น Green marketing Green Services จะอยู่ในกระแสในปีเสือแน่นอน
ประการที่สอง ความคาดหวังในบทบาทของรัฐต่อเรื่อง CSR จะสูงขึ้น หลังจากกรณีการถูกฟ้องให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
ประการที่สาม การปรับจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสู่จุดปกติใหม่ (New Concept) จะเกิดขึ้น สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการลดทอนคุณค่า CSR ขององค์กรในระยะยาว
ประการที่สี่ มาตรฐาน ISO 26000 จะเริ่มลงหลักปักฐานในองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
ประการที่ห้า ประเด็นทาง CSR จะถูกหยิบยกมาเป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยอัตราเร่งจากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ
ประการที่หก เรื่อง CSR จะแผ่ขยายลงไปสู่สถานศึกษาในระดับโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากการตอบรับในระดับอุดมศึกษาอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ตรงที่ผมได้มีโอกาสเดินสายบรรยายเรื่องโครงการสังคมสีขาว White Ocean Society โดยบรรยายไปมากกว่า 120 ครั้งทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ฟังนับหมื่นคน และมีองค์กรมากมายที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนโยบายและปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน รวมทั้งมีพนักงานองค์กร ข้าราชการ ประชาชน และเยาวชนมากกว่าหมื่นคนที่ตั้งสัตยาธิษฐานเปลี่ยนแปลงตัวเอง กำลังเป็นกระแสสีขาวที่แผ่ขยายไปทั่ว
แนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจและกระตุ้นให้ทุกคนลุกขึ้นมาสร้างตัวเองใหม่ และทำความดีโดยเนื้อแท้ คือคำว่า ISR ย่อมาจาก Individual Social Responsibility
เป็นหนึ่งใน 7 หลักการของกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ที่มุ่งเน้นให้คนแต่ละคนในองค์กร ในครอบครัว และในสังคม ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสังคม ฝังรากลึกลงไปในจิตวิญญาณ ในดีเอ็นเอ อะตอม โมเลกุล และชีวิตจิตใจ
ให้ทำตัวเองเป็น Change Agent หน่วยขยายผลการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ตัวบุคคลเป็นฑูตแห่งความดี Brand Ambassador ที่มีพลังในการระเบิดจากข้างใน โดยไม่รอให้ผู้อื่นเปลี่ยนก่อน หรือองค์กรเปลี่ยนก่อน
การวัดระดับ ISR หรือพลังแห่งการปลดปล่อยศักยภาพในตนเอง มีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับได้แก่ ระดับล่างสุด รอรับคำสั่ง (Order Taker) ระดับสอง เริ่มตั้งคำถามต่อหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน ระดับสาม (ดีขึ้นมาหน่อย) ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ระดับสี่ (ดี) มีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง เดินมาหาหัวหน้าเพื่อบอกว่าตั้งใจจะทำอะไร และระดับที่ห้า (ดีมาก) ลงมือปฏิบัติและรายงานผลให้ทราบเป็นระยะๆ
หัวหน้าที่มีลูกน้องอยู่ในระดับล่างสุด จะทำงานหนักหน่อย เพราะต้องสวมบทบาทเป็นนักพากย์คอยบอกบทตลอด และพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นตัวถ่วงองค์กรด้วยข้ออ้างสารพัด และใช้แต่สมองซีกซ้าย รอโปรแกรมป้อนเข้าสมอง
แต่หากองค์กรใดมีพนักงานที่มี ISR ระดับบนสุด เปรียบเสมือนเป็นองค์กรที่ติดเทอร์โบ เพราะหัวหน้างานมีหน้าที่ในการพยักหน้า และบอกทีมงานว่า ‘เยี่ยม’ ลุยเลย เก่งมาก เดินหน้าได้..! พนักงานกลุ่มนี้จะใช้สมองซีกขวา รู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร ไม่ต้องมีใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช
ลองประเมินกันเอาเองว่า พนักงานของเรามีหัวใจอาสา หรือ ISR อยู่ในระดับใด และหากต้องการเช็คข้อมูลว่ามีองค์กรใดบ้างที่อยู่บนน่านน้ำสีขาว และมีพนักงานหัวใจสีขาวติดอันดับ เชิญที่ www.whiteoceansociety.com
วันนี้ CSR ยังไม่เพียงพอ ต้องลงไปสู่จิตวิญญาณของ ISR…