กว่าสามปีที่ผมแนะนำกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว White Ocean Strategy สู่สังคมไทย เป็นการท้าทายความเชื่อเดิมของนักธุรกิจและผู้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าเป็นกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม แต่เป็นโลกในอุดมคติ ไม่ใช่ชีวิตจริง! เป็นไปได้อย่างไรที่นักธุรกิจและผู้บริหารจะเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ดูแลพนักงาน ลูกค้าและสังคมรอบข้างอย่างเต็มที่และจริงใจ ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานคุณธรรม เพราะโลกธุรกิจล้วนเต็มไปด้วยเกมการช่วงชิงความได้เปรียบ การแข่งขันห้ำหั่นเพื่อกวาดส่วนแบ่งการตลาดและทำกำไรสูงสุด ที่สำคัญ กลยุทธ์ที่ว่านี้ไม่ได้คิดค้นโดยฝรั่งตาน้ำข้าว แต่นำเสนอโดยคนไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธเจ้าและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยิ่งทำให้การยอมรับในทฤษฏีนี้ในช่วงแรกๆ ก่อให้เกิดความลังเลสงสัยบนใบหน้าของผู้คนจำนวนหนึ่ง
แต่ความจริงก็คือความจริง เพราะโลกไม่สามารถเดินบนเส้นทางสุดโต่งได้อีกต่อไป บนวิถีวัตถุนิยมอันไร้ความพอเพียง โลกไม่สามารถถูกเบียดเบียนความสมดุลย์แห่งธรรมชาติได้อีกต่อไป ไม่สามารถมีรอยถ่างแห่งความแตกต่างทั้งสังคม เศรษฐกิจและแนวความคิดสุดขั้วได้อีกต่อไป โลกกำลังมองหาทางสายกลาง ทุนนิยมแบบยั่งยืน การทำธุรกิจบนเส้นทางอรหันต์ Social Enterprise หรือจะเรียกว่า White Ocean Strategy ก็ได้ กำลังได้รับความสนใจและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก รวมทั้งกระแส Share & Ownless เพราะมนุษย์เริ่มตื่นรู้ถึงความจริงว่า ทรัพยากรบนโลกนี้มีไว้เพื่อแบ่งปันกันและไม่มีใครสามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง
ในหลักข้อที่ 4 ของกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ผมได้พูดถึงโลกอันอุดมสมบูรณ์และแบ่งปันกันอย่างเอื้ออาทร เป็นโลกซึ่งมีที่ยืนเพียงพอสำหรับผู้ชนะทุกคน Everyone is a winner! โดยนำเสนอแนวคิดใหม่ที่เราสามารถจับมือกับคู่แข่งเพื่อสร้างตลาดและแบ่งปันความสำเร็จร่วมกัน ตามหลัก Co – Creation ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เราต้องทำให้ธุรกิจใครล้มหายตายจาก หรือถูกซื้อกิจการจาก ‘ความโลภ’ ที่ต้องการเป็นใหญ่และเป็นผู้ชนะตามลำพัง เพราะความจริงคือ โลกใบนี้มีอายุ 4,500 ล้านปี มนุษย์อย่างพวกเราอายุปัจจุบันเฉลี่ย 75 ปี มีเวลาใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เพียง 2,600 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากหักเวลาในการนอนไปแล้ว ดังนั้น เราทุกคนมาเป็นผู้มาอาศัยชั่วคราว มาแบบประเดี๋ยวประด๋าว จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของอะไรในโลกนี้ได้ ไม่นานก็ได้เวลาเช็คเอ้าท์กันถ้วนหน้า เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น
ผมได้ยกตัวอย่างธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ‘ทาทากรุ๊ป’ ที่มีปรัชญาอันทำให้องค์กรที่ดำเนินธุรกิจเกือบ 200 บริษัทยั่งยืนมานับร้อยปี ทั้งที่ไม่ใช่ชาวอินเดียโดยกำเนิดแต่เป็นผู้อพยพจากเปอร์เชีย นั่นคือ ‘สิ่งใดที่ได้จากสังคมหนึ่งส่วน ต้องกลับคืนสู่สังคมหลายเท่าทวีคูณ’ เป็นปรัชญาที่สะท้อนถึงความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับองค์กรนี้ตลอดระยะเวลาตอกย้ำสัจธรรมที่ว่า ‘ยิ่งให้ยิ่งได้’ และที่สำคัญ ได้รับความไว้วางใจจากคนอินเดียและลูกค้าทั่วโลก
ที่ฮือฮาระดับโลก ต้องยกให้กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนและอภิมหาเศรษฐีอันดับสามของโลก ที่บริจาคหุ้นจำนวน 10 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าองค์กรการกุศหลายแห่ง ถือเป็นสถิติยอดเงินบริจาคก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งบิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ที่ได้บริจาคเงินเข้ามูลนิธิตัวเองมากถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เท่านี้ยังไม่พอ ทั้งคู่ยังได้เปิดตัวโครงการ ‘The Giving Pledge’ เมื่อปี 2010 โดยชักชวนมหาเศรษฐีพันล้านในอเมริกาบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณกุศล จะยกให้ตอนมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ไม่ว่ากัน ข่าวที่น่ายินดีคือ มีมหาเศรษฐีร่วมบริจาคแล้วถึง 57 ราย แต่ที่ผมปลื้มสุดๆ คือ พินัยกรรมของบิล และ เมลินดา เกตส์ สองสามีภรรยาที่ระบุว่า หลังจากที่ทั้งคู่เสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องเข้าองค์กรการกุศลจนเกลี้ยง ไม่ให้เหลือเลยไม่แต่ดอลลาร์เดียว เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับมหาเศรษฐีทั่วโลก และมหาเศรษฐีไทยด้วย!
ลองคำนวณกันเล่นๆ นะครับ ข้อมูลจากวารสาร ‘การเงินธนาคาร’ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2554 ประเทศไทยของเรามี ‘เศรษฐีเงินล้าน’ ที่มีเงินฝากในธนาคารตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป 952,054 บัญชี มียอดเงินรวมกันกว่า 4.8 ล้านล้านบาท หากบริจาคครึ่งเดียว เราจะมีเงินเข้าไปช่วยองค์กรกุศลถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพียงพอและพอเพียงที่จะทำให้คนไทยจำนวนมากมายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เสมอภาคและดีขึ้นอย่างแน่นอน
อีกเรื่องที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือ จิตอาสา หรือ iSR (Individual Social Responsibility) การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าผลประโยชน์ตน การรับผิดชอบต่อสังคมในระดับบุคคล ที่เหนือและยั่งยืนกว่าระดับองค์กร หรือที่เรามักเรียกกันว่า CSR เป็นสิ่งที่องค์กรหลายแห่งเริ่มหันมาปลูกฝังวัฒนธรรมของการทำความดีโดยเนื้อแท้ให้เกิดขึ้นในยีนของพนักงานทุกคน เป็นการทำความดีโดยไม่ได้หวังเพียงสร้างข่าวประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการทำความดีทุกวันจากจิตสำนึกและน้ำใจที่ไม่มีวันหยุด ไม่มีข้อแม้ ไม่ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือผลกำไรขาดทุนขององค์กร
ตอนนี้ เราจึงได้เห็นการ ‘แบ่งเวลาที่เหลือเพื่อสังคม’ ของอาสาสมัครจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ความสุขใจของตนเอง ความสุขใจของบุคคลที่เราได้ไปทำประโยชน์ให้ แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ตาม และอีกไม่นาน เราคงได้มีโอกาสเห็นนวัตกรรมความดีที่จะเริ่มนำมาใช้กันในองค์กรสีขาวต่างๆ นั่นคือ D Passport หนังสือเดินทางแห่งความดี ที่จะบันทึกและเก็บคะแนนทุกกิจกรรมความดี อันได้แก่ การร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา การประพฤติปฏิบัติตามระเบียบวินัยขององค์กร การเป็นต้นแบบที่ดีให้บุคคลอื่น การอ่านหนังสือและถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ การดูแลคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ที่ www.do-d-club.com
iSR เปรียบเสมือนเป็นแกนกลางของเข็มนาฬิกา ที่มี CSR หรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เป็นเสมือนเข็มนาฬิกา ทั้งนี้ เพราะหากตัวเราไม่เริ่มเคลื่อน ตัว I ไม่กระดิก ไม่เริ่มลุกขึ้นมามีจิตสำนึกและดีเอ็นเอแห่งความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว องค์กร และสังคม กิจกรรม CSR ต่างๆ ที่องค์กรออกแบบมาจะไม่มีวันประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะเป็นเพียงเปลือกที่ฉาบไว้ภายนอกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรเท่านั้น
จิตอาสา iSR จึงเป็นการเปลี่ยนแปลง และเป็นพลังเล็กๆ ในหัวใจแต่ละคนที่จะลุกขึ้นมาประกาศศักยภาพและส่องแสงสว่างออกไปโดยรอบ เพราะคนที่มีหัวใจอาสาทุกคนย่อมตระหนักดีว่า ‘หัวใจฉันเป็นสุข ทุกครั้งที่มันเต้นเพื่อผู้อื่น’
… My heart is happy whenever it beats for others …