วันแห่งการชอปปิงครั้งใหญ่ที่สุดในโลกไม่ใช่วัน “แบล็ค ฟรายเดย์” แต่เป็น “วันคนโสด” หรือ Singles Day ซึ่งเป็นวันหยุดในประเทศจีน
ที่คนหนุ่มสาวออกมาฉลองความโสด ด้วยการใช้จ่ายเงินรวมกันเกือบ 9,300 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทรนด์ใหม่ของโซเชียลมีเดียที่รวมเอาบริการจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือกับเว็บไซต์หาคู่เดทมาไว้ด้วยกัน
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เทรนด์โซเชียลมีเดียรวมถึงแอพพลิเคชันหาคู่เดทที่สำคัญต่างๆ มักถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
ตัวอย่างเช่น Facebook, Twitter, Tinder แต่ปัจจุบันนี้ประเทศในเอเชียอย่างจีนกลายเป็นต้นกำเนิดของเทรนด์โซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
และกำลังจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนอเมริกันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการหาคู่เดท ขายของออนไลน์ ไปจนถึงการกิน
หลายเทรนด์เกิดขึ้นจากการหลอมรวมโซเชียลมีเดีย สมาร์ทดีไวซ์ และการค้าขายผ่านโทรศัพท์มือถือเข้าไว้ด้วยกัน
และต่อไปนี้คือแนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2559
1.การหาคู่เป็นเรื่องโซเชียลมากขึ้น Dating gets (more) social
แอพหาคู่ที่ได้รับความนิยมและเกิดขึ้นในเอเชียอย่าง Peekawoo, Paktor และ Momo กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่าง
โปรแกรมหาคู่กับโซเชียลมีเดียจางหายไป หากดูในกรณีของ Momo แอพหาคู่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ในประเทศจีน (รองจาก WeChat)
มีตัวเลขผู้ใช้งานมากกว่า 60 ล้านคนต่อเดือน และเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ Momo ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพบผู้ใช้คนอื่นๆ
ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น กำลังใช้แอพอยู่ในคลับหรืองานปาร์ตี้เดียวกันได้ แม้ว่าในขณะนี้แอพดังกล่าวจะมีเฉพาะภาษาจีน
แต่มีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าผู้ผลิตมีแผนจะออกเวอร์ชันใหม่สำหรับโทรศัพท์มือถือเพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษโดยตรง
ส่วนแอพ Paktor จากประเทศสิงคโปร์สามารถทำรายได้มากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และประกาศตนเป็น
แอพหาคู่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอพนี้มีห้องแชทสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน
และได้รับการออกแบบให้ช่วยในการพบปะกันด้วยวิธีการที่ต่างจากเดิมซึ่งเป็นการดูจากรูปภาพ นอกจากจะทำให้คนโสด 2 คนมาเจอกันแล้ว
ผู้ใช้ Paktor ยังมีการเดทเป็นกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อนจะแยกย้ายกันไปเป็นคู่ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ซีอีโอของ Paktor ตั้งเป้าที่จะทำให้แอพนี้
เป็นโซเชียลมีเดียเหมือนกับเฟซบุ๊กมากกว่าจะเป็นแค่แอพหาคู่เท่านั้น
2.ใช้โซเชียลมีเดียในการค้าปลีก Social meets retail
แม้เว็บโซเชียลมีเดียของโลกตะวันตก เช่น Pinterest จะกระโจนเข้าสู่วงการค้าปลีกผ่านเว็บไซต์โดยตรงด้วยการเพิ่มปุ่ม “Buy It”
ก็ถือว่ายังตามหลังเว็บไซต์ของเอเชีย เช่น Shopline ที่ครองตลาดจีนทั้งในส่วนของโซเชียลมีเดียและอี-คอมเมิร์ซ
อีกทั้งชาวจีนที่ใช้โซเชียลมีเดียมักเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เองอีกด้วย โดย 70% ของผู้ใช้มักโพสต์รีวิวสินค้าต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
ต่างจากในสหรัฐฯ ที่มีเพียง 20% เท่านั้น
ชาวจีนยังเป็นผู้นำด้านการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถืออีกด้วย การสำรวจโดย TranslateMedia พบว่าในปี 2556
กว่าครึ่งของผู้บริโภคในจีนเคยใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านมือถือ ขณะที่ในสหรัฐฯ มีเพียง 20% เนื่องจากแอพสัญชาติจีนนำโซเชียลมีเดีย
มาใช้กับอี-คอมเมิร์ซมานานแล้ว ทำให้การค้าปลีกออนไลน์และการใช้กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการจับจ่ายของชาวจีน
อย่างใน WeChat ซึ่งเป็นแอพสนทนาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีนก็มีฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินผ่านแอพได้
ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นการผสมสผานโซเชียลเน็ตเวิร์กกับการค้าปลีกออนไลน์มากยิ่งขึ้นในปีหน้า
3.โชว์ความแปลกผ่านคลิป Self-broadcasting is the new social overshare
Video Blogging หรือ Vlogging เป็นเทรนด์สำคัญเทรนด์หนึ่งในสหรัฐฯ และเว็บไซต์ self-broadcasting ชื่อดังของเอเชียอย่าง
Periscope และ Meerkat กำลังจะทำให้เทรนด์นี้พัฒนาไปอีกขั้น ในเอเชีย เว็บไซต์รวมคลิปวิดีโอเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ในฐานะช่องทางสำหรับการแสดงตัวตน โดยเฉพาะในเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่าง “การกินอาหาร”
ในประเทศเกาหลีใต้มีเทรนด์ที่เรียกว่า “mukbang” ซึ่งคนจะถ่ายภาพตนเองสวาปามอาหารจานโตออกอากาศออนไลน์แบบสดๆ
รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมในระหว่างการกินเพื่อให้ได้รายได้เป็น “ทิป” ผู้แสดงการกินบางคนอาจได้เงินสูงถึง 9,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน
Self-broadcasting เป็นวิธีที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกใกล้ชิดทั้งกับคนรู้จักและคนแปลกหน้า
แม้จะอยู่ห่างไกลกันได้เช่นเดียวกับ Snapchat และ Instagram
ผู้แสดง mugbang ชั้นนำหลายคนยอมรับว่าการออกอากาศยังเป็นการทำตนเสมือนเป็นเพื่อนกินดื่มให้กับผู้ชมที่อยู่โดดเดี่ยว
ผู้ชมบางส่วนถึงกับบอกว่าการดูคนอื่นกินช่วยให้ตนเองมุ่งมั่นในการคุมอาหารได้สำเร็จ เรียกได้ว่าเทรนด์นี้ทำให้การถ่ายรูปอาหารสวยๆ
ลงอินสตาแกรมเป็นเรื่องของมือสมัครเล่นไปเลย
การมีปฏิสัมพันธ์ผ่านโทรศัพท์มือถือของคนยุคนี้ล้วนต้องผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้นในปี 2559 นี้ต้องจับตาการรวมพลังกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ระหว่างอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา โซเชียลมีเดีย และอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงแอพสนทนาและหาคู่ต่างๆ แม้ว่าเฟซบุ๊กจะยังครองโลกต่อไป
แต่น่าสนใจว่าเทรนด์ที่กำลังมาแรงเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียในปีต่อๆ ไป
เรียกได้ว่าปี 2559 ยังเป็นปีที่โซเชียลมีเดียยังคงแรงดีไม่มีตกครับ
Brand Age Magazine
Dec 2015 (P.128-129)