ฤดูร้อนปี 2561 นี้ 26-30 เมษายน เป็นช่วงเวลา 5วัน 4คืน ที่ผมหนีร้อนไปพึ่งอากาศเย็นๆ ณ ดินแดนมังกรสายฟ้า ประเทศภูฏาน ซึ่งวันนี้ผมอยากแบ่งปันความประทับใจตลอดการเดินทางที่ประเทศภูฏานแด่ผู้อ่าน ให้รู้สึกเหมือนได้เดินทางไปพร้อมกันครับ (เวลาท้องถิ่นที่ประเทศภูฏาน ช้ากว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง)
วันพฤหัสที่ 26 เมษายน 2561
04.00น. นัดพบกันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารผู้โดยสารขาออกต่างประเทศ ชั้น 4 ประตูที่ 6 เคาน์เตอร์ K โดยมีเจ้าหน้าที่ของธรรมดีทัวร์ คอยให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกเรื่องกระเป๋าสัมภาระและเอกสารการเดินทาง
06.00น. เหินฟ้าสู่ประเทศภูฏานโดยสายการบินภูฏานแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ B3701
08.00 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานพาโร เมืองพาโร (Paro) เมืองท่าของประเทศภูฎาน ที่ระดับความสูง 2,280 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินแห่งเดียวของประเทศ หลังจากผ่านพิธีการเข้าประเทศ ท่านจะพบกับ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่โรงแรมให้การต้อนรับที่สนามบิน (เวลาประเทศภูฏานช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง) นำท่านเดินทางเข้าที่พัก Haven Paro เพื่อพักผ่อน และรับประทานอาหารกลางวัน ระหว่างทางท่านสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของประเทศภูฏาน และท่านจะตื่นตาตื่นใจสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภูฏาน ที่ท่านจะได้พบเห็นตลอดสองข้างทาง
13.00 น. เที่ยวชม พาโร รินปุงซอง มีความหมายว่า “ป้อมเนินอัญมณี” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2189 สถาปัตยกรรมสไตล์ภูฏานวางตัวโดดเด่นอย่างงดงามอยู่บนเนินเขา ภายนอกจะเห็นสะพานไม้ข้ามลำน้ำพาโร สู่ตัวซองอันงามสง่า เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในพาโร และเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่อง Little Buddha
จากนั้นชมวัดคิชุ ลากัง(Kyichum Lhakhang) สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ทิเบตซึ่งมีพระนามว่า ท่านซองเตน เกมโป (Songtsen Gampo) เพื่อตรึงเท้าซ้ายนางยักษ์ตนหนึ่งที่นอนทอดร่างปิดทับประเทศทิเบตและเทือกเขาหิมาลัยไว้ เพราะปีศาจต้องการขัดขวางมิให้พุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาสู่ภูฏาน พระเจ้าซองเตน จึงสร้างวัดจำนวน 108 แห่ง เพื่อตรึงร่างนางยักษ์ไม่ให้มีฤทธิ์กำเริบเสิบสาน โดยจุดที่สร้างวัดคิชู ที่เมืองพาโร เป็นเท้าซ้ายของยักษ์ (อีกวัดหนึ่งในภูฏาน อยู่ที่เมืองบุมทัง สร้างตรงเข่าซ้ายของยักษ์) ซึ่งวิหารนี้ ปูพื้นด้วยไม้แผ่นใหญ่ ตรงบริเวณเบื้องหน้าพระประธานมีรอยบุ๋มลึก เนื่องจากมีผู้แสวงบุญมายืนและก้มลงกราบพระแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” (ร่างกายแตะพื้น 8 จุด) ซ้ำๆ กันเป็นเวลานับพันปี โดยวัดนี้เป็นหนึ่งในสองวัดที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศภูฏาน และด้านข้างติดกัน จะเป็นบ้านพักของดิลโก้ เคียนเซ่ รินโปเช (Dilgo Kheyntse Rinpoche) อยู่ใกล้ๆ กัน เป็นของพระอาจารย์สายวัชรยานนิงมาปะ ซึ่งราชวงศ์ภูฏานให้ความนับถือมาก
18.00 น. เข้าสู่ที่พัก Haven Paro พร้อมรับประทานอาหารเย็น และพักผ่อนตามอัธยาศัย
วันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561
08.00 น. ออกเดินทางเพื่อไปยังเมืองทิมพู (Thimphu) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศภูฏาน โดยเมืองทิมพูเป็นเมืองหลวงแห่งเดียวในโลกที่ไม่ใช้สัญญาณไฟจราจร ท่านจะรู้สึกได้ถึงการผสมผสานอย่างลงตัวของประเพณีดั้งเดิมและความทันสมัย โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนและวัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนมิตรไมตรีจิตของผู้คน โดยชาวภูฏานส่วนใหญ่จะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ ผู้ชายจะแต่งชุดที่เรียกว่า โก (Kho) ส่วนผู้หญิงจะแต่งชุดที่เรียกว่า กีร่า (Kira)
จากนั้นพาท่านเข้าชม เมมโมเรียลโชเตน (National Memorial Chorten) เป็นมหาสถูปสีขาวยอดสีทองตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง สร้างขึ้นในปี 1974 เพื่อถวายพระเกียรติแด่กษัตริย์จิ๊กมี่ ดอร์จิ วังชุก (King Jigme Dorji Wangchuck) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 ของภูฏาน ผู้เสด็จสวรรคตเมื่อปี 1972 ซึ่งเป็นบิดาแห่งภูฏานในยุคสมัยใหม่ ภายในไม่มีพระบรมศพบรรจุอยู่แต่มีเพียงพระบรมฉายาลักษณ์ประดับด้วยแถบประดิษฐานอยู่ที่ชั้นล่าง มิได้เปิดให้เข้าชมด้านในโดยท่านสามารถกราบบูชาสถูปแบบอัษฏางคประดิษฐ์ตามแบบภูฏาน และเดินเวียนเทียนร่วมกับชาวภูฏาน เพื่อความเป็น สิริมงคล
จากนั้นเดินทางขึ้นบนเขาไปยังจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดของทิมพู เพื่อชื่นชมความงามตามธรรมชาติของเมืองทิมพูทั่วทั้งเมือง และสักการะ หลวงพ่อ สัจจธรรม (Buddha Dordenma Statue) หรือ Kuenselphodrang พระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูฏาน ที่ ประดิษฐานอยู่บริเวณเชิงเขาในเมืองทิมพู เพื่อทำหน้าที่ป้องปักรักษาชาว ทิมพู บริเวณฐานองค์พระพุทธรูปเป็นห้องโถงสำหรับการทำสมาธิวิปัสสนา
หลังรับประทานอาหารกลางวัน เดินทางไปที่สถานอนุรักษ์สัตว์ประจำชาติของภูฏาน (Takin Preservation Center) เพื่อชม “ทาคิน” (Takin) ซึ่งเป็นสัตว์พิเศษ ที่มีลักษณะผสมระหว่าง แพะกับวัว มีเฉพาะในภูฏาน จีน ทิเบต และที่ราบสูงเขตเทือกเขาหิมาลัยเท่านั้น ถือเป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏาน ( National Animal of Bhutan) และเป็นสัตว์ในตำนานประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในภูฏาน ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากมาก โดยเชื่อว่าเกิดจากการสร้างอภินิหารขององค์ลามะดรุ๊กปาคุนเล ที่เสกสัตว์ชนิดนี้ขึ้นมา (Drukpa Kunley or Divine Madman)
จากนั้นนำท่านไปยัง ที่ทำการไปรษณีย์ เมืองทิมพู (Bhutan Post Office) ภูฏานเป็นประเทศที่ผลิตดวงตราไปรษณียากรได้สวยงามประเทศหนึ่งของโลก นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปตัวเองทำเป็นแสตมป์ส่งกลับมาประเทศไทยได้อีกด้วย นอกจากแสตมป์สวยๆ แล้ว ที่นี่ยังมีโปสการ์ดขาย สามารถเลือกแสตมป์ที่ชอบแปะลงบนโปสการ์ดที่เลือก แล้วส่งกลับไปยังประเทศไทยให้ตัวเองหรือให้คนใกล้ชิด เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
14.00 น. ไปวัดปังรีซัมปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างโดยท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้รวมประเทศภูฏานเข้าด้วยกันเป็นคนแรก และวัดเจ้าแม่ธารา ของสมเด็จพระราชินี
17.00 น. ไปชมทิมพูซอง (Thimphu Dzong) หรือ ตาชิโชซอง (Tashicho Dzong) เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองหลวงทิมพู สถาปัตยกรรมเชิงเขาที่งดงามแห่งนี้ เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญ ที่พำนักสงฆ์ และประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ในอดีตเคยเกิดเพลิงไหม้หลายครั้งจึงถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จิ วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์ และย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองทิมพู จึงทรงสั่งให้ฟื้นฟูก่อสร้างขึ้นมาใหม่จนใหญ่โตตามกรรมวิธีโบราณทุกอย่าง และสร้างลานกว้างเพื่อรองรับผู้คนมาเข้าร่วมงานเทศกาลยิ่งใหญ่ประจำปี ภายในป้อมปราการประดับด้วยภาพนูนสูงสลักและจิตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นท้าวจตุโลกบาล เทพเจ้า เทพธิดา พระพุทธเจ้า สัตว์ในเทพนิยาย วงล้อแห่งชีวิต และประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ
วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2561
08.00 น. นำท่านออกเดินทางสู่เมืองพูนาคา (Punakha) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.5 ชั่วโมง ระหว่างทางท่านสามารถชมทิวทัศน์ของภูเขาสูงสลับกับแม่น้ำลำธารน้อยใหญ่ที่ใสสะอาดตามข้างทาง แวะจุดที่สูงที่สุดบนเส้นทางนี้ ที่ดอร์ ชูลา (Dorchula Plass) ที่ระดับความสูง 3,150 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นจุดชมวิวที่ให้ทุกท่านได้ถ่ายรูปและชมวิว เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดที่สามารถยืนชมเทือกเขาหิมาลัยได้แบบกระจ่างตาที่สุด
จากนั้นไปชมนิทรรศการดอกไม้ Royal Bhutan Flower Exhibition ครั้งที่4 จัดขึ้นในช่วงวันที่ 25-30 เมษายน 2561 พอดี โดยจัดแสดงพันธุ์ไม้สวยงามต่างๆ ให้ชาวภูฏาน และนักท่องเที่ยว ได้มาถ่ายรูปสวยๆกัน ณ ที่แห่งนี้
13.00 น. เข้าชม พูนาคา ซอง (Punakha Dzong) ความหมายตามชื่อคือ “พระราชวังแห่งความสุข” สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1637 โดยซับดรุง งาวัง นัมเกล ปัจจุบันเป็นที่ประทับฤดูหนาวของพระสังฆราช เนื่องจากพูนาคา มีอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ด้วยเหตุที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเพียง 1,468 เมตร เท่านั้นเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่นี่จึงมีอากาศอบอุ่นกว่าในช่วงฤดูหนาว ด้านหน้าของพูนาคาซอง โดยตั้งอยู่ระหว่าง แม่น้ำโพ (Po Chu) และแม่น้ำโม (Mo Chu) ซึ่งหมายถึง แม่น้ำพ่อและแม่น้ำแม่ ไหลมาบรรจบกันพอดี)
วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2561
08.00 น. เดินทางไปยัง วัดทักซัง (Taktshang) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดถ้ำเสือ (Tiger’s Nest) ซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผาสูง 900 เมตร วัดทักซังเป็นสถานที่แสวงบุญที่ชาวภูฏานเลื่อมใสศรัทธากันมากที่สุด มีชื่อเสียงที่สุดในภูฏาน เพื่อสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศภูฏาน และยังเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธวัชรตันตระยาน
ชื่อทักซังนี้ มีความหมายว่า เป็นที่อยู่ของเสือ (Tiger’s Nest) ซึ่งตั้งตามตำนานความเชื่อเก่าของวัดแห่งนี้ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่ท่านคุรุรินโปเช เข้าเผยแผ่ธรรมะในดินแดนแห่งนี้ ท่านได้แปลงร่างเป็นพญาครุฑขี่หลังเสือ ซึ่งเสือตัวนั้นก็คือร่างที่แปลงมาจากภรรยาของท่าน เหาะเหินขึ้นมาจำศีลภาวนา ณ ถ้ำเล็กๆบนหน้าผาแห่งนี้เป็นเวลากว่า 3 เดือน
ต่อมาให้มีการสร้างวัดเพื่อให้พระที่มาปฏิบัติธรรมอยู่อาศัย และสร้างต่อๆ มาถึง 13 อาคาร อาคารเหล่านี้เคยถูกไฟไหม้หลายหนแต่ก็บูรณะขึ้นมาใหม่ วันนี้จึงได้มาพิสูจน์แรงศรัทธา แรงกายและแรงใจ ในการเดินขึ้นสู่ยอดเขาจากระดับน้ำ 2,300 เมตรสู่ยอดเขา 3,100 เมตร ซึ่งในการเดินขึ้นวัดทักซัง ใช้เวลาไปกลับและเที่ยวที่วัดประมาณ 5 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละท่าน)
หลังจากพวกเราทุ่มเทแรงกายแรงใจเดินเท้ากันมาสักพักใหญ่ ก็มาจนถึงวัดทักซังได้สำเร็จ แต่ต้องบอกว่าทุกท่านที่ได้ขึ้นมาถึงวัดทักซังแห่งนี้ จะได้รับความประทับใจ ความอิ่มเอม เกิดความปิติจากการกราบสักการะพระพุทธรูปท่านดิลโก้ เคียนเซ่ รินโปเช ได้เจริญสติภาวนาด้านในวัดทักซัง และคณะยังได้เข้ากราบท่านเจ้าอาวาสวัดทักซังเป็นการส่วนตัว ซึ่งท่านเมตตาเลี้ยงน้ำชาและบิสกิตแก่คณะของเราด้วยครับ (น่าเสียดายที่ภายในไม่สามารถบันทึกภาพได้)
หลังจากใช้ร่างกายมาเต็มที่ตลอดวันแล้ว เข้าสู่ที่พัก Haven Paro ชมการแสดงรอบกองไฟ การร่ายรำในแบบฉบับภูฏาน พร้อมรับประทานอาหารเย็น และพักผ่อนตามอัธยาศัยในคืนสุดท้ายที่ภูฏานแห่งนี้
วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2561
วันสุดท้าย ณ ประเทศภูฏาน เราไม่ได้แวะเที่ยวที่ไหน(เพราะไปมาครบหมดแล้ว) ตรงดิ่งไปยังสนามบินพาโรในช่วงสาย และ เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 16.00น. นับเป็นทริปภูฏานครั้งที่ 7 ของผม ที่มากี่ครั้งก็ประทับในทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม อาหาร ผู้คน วัฒนธรรม ความน่ารักของชาวภูฏาน ความเป็นกันเองของคณะที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ซึ่งไม่สามารถเขียนเล่าเป็นตัวอักษรได้ทั้งหมด และคาดว่าทุกท่านที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน คงจะรู้สึกเช่นเดียวกับผม
ขอขอบคุณทาทีมงานของ ธรรมดีทัวร์ http://dhamdeetour.com ที่ได้วางแผนการจัดการและบริการเป็นอย่างดีตลอดทริปนี้ครับ