จากข่าวใหญ่ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงช็อกไปตามๆ กัน และคงอดคิดไม่ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยของเรา เมืองที่ได้ชื่อว่ามี “พุทธศาสนา” เป็นศาสนาประจำชาติ จะว่าไปแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไม่ให้เราตัดสินอะไรเพียงผิวเผิน ท่านให้พิจารณาอย่างรอบคอบถ้วนถี่ ไตร่ตรองด้วยสติปัญญา พิสูจน์จนประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ก่อนที่จะเชื่ออะไร
วันนี้หลายคนอาจบอกว่าศาสนาพุทธกำลังเจอวิกฤตศรัทธา ด้วยข่าวลบที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ผมยืนยันว่าศาสนาพุทธไม่ได้เสื่อมครับ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการทดสอบศรัทธาและสติปัญญาของพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงเท่านั้น
ในท่ามกลางกระแสข่าวที่โหมกระหน่ำอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ผมมีเรื่องดีๆ ที่ฟังแล้วมีกำลังใจมากขึ้น และอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องราวของโลกตะวันตกที่กำลังสนใจใฝ่ศึกษาในเรื่องที่เรากำลังมองข้ามกันในขณะนี้ ชาวตะวันตกที่ว่า โดยเฉพาะพวกที่ทำงานในแวดวงไอที ผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก กำลังหันมาทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกสมาธิกันอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ
มีรายงานว่าบริษัทไอที เทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งในซิลิคอนวัลเลย์กำลังนำคอร์สการฝึกสมาธิเข้ามาให้พนักงานได้ฝึกปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พนักงานของกูเกิลกว่า 1,000 คนได้เข้าคอร์สอบรมภายในของบริษัท ที่ใช้ชื่อว่า “Search Inside Yourself” หรือ “จงค้นหาตัวตนภายในของตน” ที่มุ่งเน้นสอนให้พนักงานรู้จักการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง และสถานการณ์ที่ตึงเครียด รวมถึงทำความเข้าใจในความต้องการของเพื่อนร่วมงานให้ดียิ่งขึ้น
สอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้น ที่ยืนยันว่า การทำสมาธิช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ดียิ่งขึ้น งานวิจัยอีกหลายชิ้น ยังบอกว่า การทำสมาธิช่วยทำให้ความจำดีขึ้น และปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ล่าสุด กูเกิลได้พัฒนาคอร์สฝึกอบรมภายในดังกล่าวให้กลายเป็นสถาบันพัฒนาความเป็นผู้นำ Search Inside Yourself Leadership Institute ซึ่งทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการฝึกทำสมาธิแบบกูเกิลได้
ย้อนไปเมื่อปี 2553 อาจารย์สอนการเจริญสติคนหนึ่งชื่อว่า โซเรน กอร์ดเฮเมอร์ ได้เปิดตัวการประชุมสัมมนาเชิงปัญญาขึ้นเป็นครั้งแรก เขาเรียกมันว่า Wisdom 2.0 Conference ซึ่งเป็นการสอนการเจริญสติให้กับผู้คนทั่วไป ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากซีอีโอของบริษัทระดับแนวหน้าจากซิลิคอนวัลเลย์มาร่วมฝึกเจริญสติมากมาย รวมถึง เจฟฟ์ ไวเนอร์ ซีอีโอ LinkedIn และผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter อีแวน วิลเลียมส์
การฝึกเจริญสติแนวนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีไอที และดาต้าเบสในซิลิคอนวัลเลย์ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในธุรกิจ
ไม่เว้นแม้แต่เฟซบุ๊กที่กำลังได้รับความนิยมกันทั่วโลก ซึ่งขณะนี้เขากำลังทดลองนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจหลักของบริษัท
ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนออนไลน์ที่มีผู้ใช้บริการโดนกลั่นแกล้งและโดนล้อเลียนมากที่สุด จึงทำให้หัวหน้าวิศวกรของเฟซบุ๊ก Arturo Bejar ตัดสินใจต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติปัญหานี้
หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปัญญา Wisdom 2.0 Conference ในปี 2553 กับ โซเรน กอร์ดเฮเมอร์ เขาก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำหลักเมตตาธรรมของพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจหลักของเฟซบุ๊ก
เขาได้เริ่มก่อตั้ง “วันแห่งการศึกษาเมตตาธรรม” ขึ้น โดยเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยเยล และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มาสอนพนักงานในเรื่อง เมตตาธรรมตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
ตอนแรกก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่พอมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานโดยใช้หลักเมตตาธรรมเข้ามาพิจารณา ก็ทำให้การแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กเริ่มทำให้ผู้คนแสดงความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น
ขนาดผู้บริหารของเฟซบุ๊กยังเห็นแล้วครับว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลกเราจริงๆ
ถ้าคนทั้งโลกใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธองค์เป็นแนวทางแล้ว รับรองว่าโลกนี้ร่มเย็นแน่ๆ หลักเมตตาธรรมนี้ก็คือ พรหมวิหารสี่นั่นเอง ที่เราเรียกว่า คุณธรรมของพระพรหม ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตา คือ ความรักความปรารถนาดีให้ทุกคนมีความสุข กรุณา คือ ความรักความสงสารอยากให้ทุกคนพ้นทุกข์ มุทิตา คือ ความชื่นชมยินดีที่ได้เห็นทุกคนมีความสุข สมหวัง ซึ่งข้อนี้คนไทยจำนวนมากสอบไม่ผ่าน เพราะยังมีความอิจฉา ริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดีเกินหน้าเกินตา! ส่วนอุเบกขา ก็คือ การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ตามกฎแห่งกรรม ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ
ที่คนทั้งโลกวุ่นวายสับสนกันทุกวันนี้ เพราะขาดความรักความเมตตา มีแต่ความอิจฉาริษยา เห็นใครได้ดีก็รุมกันขย่มให้ทรุด ใครทรุดไปแล้วก็เหยียบให้จมธรณีไปเลย ความรักความเมตตาเลือนหายไปจากใจของชาวโลกเสียแล้ว เมตตากันให้มากๆ เถอะครับ โลกเราจะได้เป็นสุขสงบ ร่มเย็น
ทั้งนี้เราทุกคนสามารถเริ่มต้นกันใหม่ได้ตลอดเวลา ตามคำคมของ สตีฟ จ็อบส์ อดีตผู้บริหารแอปเปิล ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ในศาสนาพุทธ มีคำว่าจิตของผู้เริ่มต้น หรือผู้มาใหม่ (Beginner’s Mind) มันเป็นสิ่งวิเศษสุดที่จะได้มีจิตของผู้เริ่มต้น ผมได้ค้นพบเสมอว่า ศาสนาพุทธคือสิ่งที่ประเสริฐสุดอย่างแท้จริง”
จึงยังไม่สายเกินไปที่คนไทยทุกคนจะได้มีจิตของผู้เริ่มต้น… เริ่มกันใหม่ ฝึกกันใหม่ ยังไม่สายเกินไป ให้ความเป็นพุทธะกลับมาสู่จิตใจของพวกเราทุกคน ในดินแดนที่เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา อย่าให้ย้ายหนีไปอยู่ตะวันตกเป็นอันขาด…
ที่มา: http://www.posttoday.com
อ่านแล้วได้ความรู้ พร้อมสบายใจ ไปในคราวเดียวกันเลยครับอาจารย์ ( -/\- )
ขอบคุณมากครับ ได้กำลังใจอย่างดีเลย ตอนนี้ผมก็กำลังทำอยู่เหมือนกัน
ส่วนตัวผมคิดว่าเราอย่าไปยึดติดเลยครับ ว่าดินแดนไหนเป็นส่วนกลางแห่งพระพุทธศาสนา ขอแค่มีคนนับถือพุทธศาสนาอย่างถูกต้องเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว ^_^
ผมเห็นด้วยกับหลักการนะคับ เห็นด้วยมากๆ ที่จะให้ทุกคนได้มีโอกาสฝึกสติ ฝึกสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาและดับทุกข์ได้ด้วยตัวเอง แต่ผมไม่เห็นด้วยกับประโยคสรุปของบทความนี้ที่ว่า
“[sic] จึงยังไม่สายเกินไปที่คนไทยทุกคนจะได้มีจิตของผู้เริ่มต้น… เริ่มกันใหม่ ฝึกกันใหม่ ยังไม่สายเกินไป ให้ความเป็นพุทธะกลับมาสู่จิตใจของพวกเราทุกคน ในดินแดนที่เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา อย่าให้ย้ายหนีไปอยู่ตะวันตกเป็นอันขาด”
ผมมีคำถามในเชิงโครงสร้าง คือ พุทธศาสนาคืออะไร และตะวันตกคืออะไร ในสายตาของผู้เขียนคับ ผู้เขียนกำลังกอดรัดความดีเอาไว้แน่น แล้วปัดเอาความชั่วช้าทั้งหมดไปใส่ไว้ในวัฒนธรรมตะวันตกหรือเปล่าคับ
วัฒนธรรมตะวันตกไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว มันเหมือนเหรียญทั้งสองด้าน วัฒนธรรมเอเชียที่รับเอาศาสนาพุทธไปปรับใช้กับวัฒนธรรมถือผีเองก็เป็นเหมือนเหรียญสองด้านเหมือนกัน
ถ้าผมเป็นผู้เขียน ผมอาจจะสรุปไปอีกทางหนึ่งว่า “ขนาดคนในฝั่งตะวันตกที่เกิดมาในโลกวัตถุนิยมยังหันกลับมามองจิตใจมากขึ้นเลย แล้วเราซึ่งใกล้ศาสนาพุทธอยู่แล้ว จะหันกลับมามองจิตใจบ้างไม่ดีหรือ”
อันนี้ไม่ได้อยากให้เกิด heated debate นะคับ เป็นคำถามที่ผมอ่านแล้วฉุกคิดขึ้นมาได้เฉยๆ คับ