วันที่ 6 กันยายน ของทุกปี คือ “วันแห่งการต่อต้านการคอร์รัปชัน” เพราะวันนี้ในปี 2554 เป็นวันที่ คุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ริเริ่มจัดตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันคนแรกของไทย ได้จากเราไป
หลายคนอาจมองว่า ภาคีเครือข่ายฯ แห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างกระแสแค่ระยะหนึ่ง แล้วจะค่อยๆ หายไป แต่มาถึงวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีองค์กรภาคีเพิ่มขึ้นจาก 21 องค์กรเป็น 42 องค์กร
แม้วันนี้คุณดุสิตจะจากเราไป ทิ้งไว้แต่คุณงามความดี แต่ก็มีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันคนปัจจุบัน เข้ามาสานต่อภารกิจศักดิ์สิทธิ์นี้ และเชื่อมั่นว่า ภาคีฯ และพี่น้องประชาชนคนไทยจะร่วมมือกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณดุสิตต่อไป
คุณประมนต์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยใน งานวันต่อต้านคอร์รัปชัน รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งภาคีเครือข่ายฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า
“1 ปีที่ผ่านมา ดัชนีคอร์รัปชันของไทยยังไม่ดีขึ้น จากผลสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าได้คะแนนเพียง 3.4 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือเป็นคะแนนในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ แสดงว่าสถานการณ์ยังมีความรุนแรงและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในปี 2556 ซึ่งมีวงเงินงบประมาณสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการคอร์รัปชันสูงขึ้น
ผลการสำรวจยังพบอีกว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญามีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 85.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ที่ตอบว่าต้องจ่ายร้อยละ 80 อีกทั้งอัตราเงินที่ต้องจ่ายพิเศษมีเพิ่มขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามสูงถึงร้อยละ 39.7 ตอบว่าต้องจ่ายเงินพิเศษมากกว่าร้อยละ 25 ของวงเงิน และสัดส่วนร้อยละ 25.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าจ่ายร้อยละ 16-25 ของวงเงิน
กลุ่มผู้ประกอบการประมาณการว่ามูลค่าทุจริตคอร์รัปชันปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30-35 ของงบประมาณแผ่นดิน สูงขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10 และเกิดขึ้นใน ทุกระดับทุกภูมิภาค เพราะวงเงินลงทุนจะกระจายไปตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ลองคิดดูครับว่า หากเป็นอัตราร้อยละ 35 จะส่งผลให้ในปี 2555 การทุจริตคอร์รัปชันมีมูลค่า 2.94 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.36 ของงบประมาณรายจ่าย หรือร้อยละ 2.54 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ส่วนปี 2556 ประมาณการว่าการทุจริตคอร์รัปชันจะมีมูลค่าสูงถึง 3.29 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.75 ของวงเงินงบประมาณ หรือร้อยละ 2.63 ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันของไทยเป็นปัญหาที่สะสมและยืดเยื้อมานาน โดยที่ผ่านมาทุกรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าปัญหาการคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาที่ฝังลึก
หากดูประเทศสิงคโปร์ที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชัน และมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยการร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยนายลี กวน ยู อดีตประธานาธิบดี กล้าลดเงินเดือนข้าราชการและนักการเมือง ปฏิวัติกลไกการทำงานของภาครัฐ รวมถึงลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อปิดโอกาส และสิ่งเย้ายวนนำไปสู่การคอร์รัปชัน และปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไม่ให้ยอมรับการคอร์รัปชัน ทำให้ขณะนี้กลายเป็นประเทศติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่ปลอดปัญหาการคอร์รัปชัน
ขณะที่ประเทศไทยยังเห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังรับได้ ทั้งๆ ที่หากปล่อยไว้ ความไม่ถูกต้องของคนส่วนน้อยจะกลายเป็นวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่
“ปัญหานี้กลายเป็นค่านิยมที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ มันจะกลืนกินสิ่งที่ดีงาม กลืนกินเศรษฐกิจ จริยธรรมและสังคมไทยในที่สุด ทั้งนี้ มองว่าภาคธุรกิจเอกชนถือเป็นข้อต่อที่สำคัญในการเริ่มปลุกกระแสนี้ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือกับภาครัฐบาล ถึงแม้ภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชันด้วย ก็ตาม
แต่ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็เป็นแรงสำคัญในการเริ่มต้นระดมพลังในการต่อต้าน การคอร์รัปชัน โดยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้ผู้ที่เข้าร่วมแนวทางเดียวกัน ซึ่งเมื่อผู้เข้าร่วมแนวทางมีความปลอดภัยก็จะทำให้คนอื่นกล้าที่จะเข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น
ดังนั้น หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน คือ การมีแนวคิด แนวทางร่วมกัน การกล้าที่จะปฏิเสธการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชนและภาครัฐบาล ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการร่วมมืออย่างจริงจังแล้ว ไทยจะสามารถแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้เหมือนประเทศสิงค์โปร์
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจกว่าร้อยละ 60 พบว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้หากเป็นการคอร์รัปชันที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ผลการสำรวจมาจากกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นที่เป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 23 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ
ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องทำควบคู่กัน ภาครัฐต้องไม่เรียกรับเงิน ขณะที่เอกชนก็ต้องไม่จ่ายใต้โต๊ะ นอกจากนี้ ต้องปลูกฝังกันในระดับเยาวชน เร่งเปลี่ยนทัศนคติของเด็กและเยาวชน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ให้ประณามสาปแช่ง ให้เป็นตราบาปของคนทุจริต ไม่ใช่แค่ลงโทษจำคุกหรือยึดทรัพย์เท่านั้น และสื่อเองต้องทำข่าวสืบสวนสอบสวนให้มากขึ้น โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล
ขณะที่คุณมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิ มีชัย วีระไวทยะ มองว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถทำให้ปัญหาคอร์รัปชันลดลง แล้วจะใช้วิธีแก้คอร์รัปชันด้วยกฎหมายหรือพฤติกรรมส่วนตัวที่ฝังลึกเป็นสันดาน เราจะให้รัฐเป็นผู้นำในการทำฝ่ายเดียวหรือให้เอกชนช่วย ถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำเป็นแผนระยะยาวต่อเนื่อง 20 ปี เน้นไปที่พฤติกรรมส่วนตัว
“ต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษา ทุกโรงเรียนไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนต่อต้านคอร์รัปชัน เรามีการฝึกอ่าน ก.ไก่ – ฮ. นกฮูก แต่ทำไมไม่มีอักขระต่อต้านคอร์รัปชันบ้าง อยากฝาก นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ว่าควรให้มีการแข่งขันประกวดอักขระต่อต้านคอร์รัปชัน ชิงเงินแสน เอาสถานีวิทยุโทรทัศน์มาช่วยกันประชาสัมพันธ์
คุณมีชัย บอกอีกว่า ระบบการศึกษาปัจจุบันเหมือนโทรศัพท์ตั้งโต๊ะ แต่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเหมือนโทรศัพท์มือถือ การศึกษาต้องคิดนอกกรอบ เราต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ เป็นเหมือนไผ่นอกกอ โดยกำหนดหลักสูตร 5 ประการ 1. เทคนิคการเรียนการสอนแนวใหม่ 2. ดูแลสุขภาพ 3. ขจัดความยากจน 4. จิตสาธารณะ 5. ต่อต้านคอร์รัปชัน
อย่าลืมว่าคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้ รัฐบาลเป็นแค่ผู้บริหาร เข้ามา 4 ปีก็ไป
การทำเพื่อบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอคอย การเป็นคนดีมีค่าไม่ต้องรอเวลาเป็นผู้ใหญ่ การหยิบยื่นให้ไม่จำเป็นต้องรอการร้องขอ จงเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยหัวใจ จงเป็นผู้ให้ด้วยใจอาสา จงมองเห็นอนาคตลูกหลานวันข้างหน้า จงสร้างคมคิดอันล้ำค่าด้วยการพึ่งพาตนเอง สอนให้เขารู้รัก หวงแหนแผ่นดินนี้ สอนให้เขาหยัดยืนกล้าหาญด้วยความดี สอนให้เขามีวิถีวิธีคิดที่ถูกต้อง
ที่สำคัญ ผู้ใหญ่อย่างเรา อายเด็กเขาบ้างครับ เวลาที่ได้ยินเขาพูดว่า
“เหลือประเทศไทยไว้ให้พวกหนูบ้าง”
เพราะเดิมพันครั้งนี้ คือ อนาคตของประเทศไทยและลูกหลานของเรา
ที่มา : สัมมามาร์เก็ตติ้ง (ดนัย จันทร์เจ้าฉาย) Brand Age Magazine