ในเดือนแห่งความรักนี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมตักบาตรทำบุญในงานแสดงมุทิตาจิตแด่ หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ในโอกาสครบ 8 รอบ 96 พรรษา ที่สวนทิพย์ โดยมีพระป่าจำนวน 200 รูปจากทั่วประเทศ และญาติโยมนับพันคนเข้าร่วมกันถ่ายทอด ขนบธรรมเนียม และวิถีชาวพุทธที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำเพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีถวายความเคารพรักแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้อนุชนรุ่นหลังได้บันทึกไว้ในความทรงจำ สืบทอดเจตจำนงวิถีชาวพุทธที่งดงามหมดจด ทั้งกาย วาจา ใจ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้ดำรงคงอยู่
ภาพอันน่าประทับใจ คือ การตักบาตรโดยหลวงปู่บุญฤทธิ์กับพระเถระ 9 รูป (อาทิ หลวงปู่ท่อน ญาณธโร จังหวัดเลย) และการออกบิณฑบาตรโดยพระป่าทั้ง 200 รูป นำโดยหลวงปู่บุญฤทธิ์ โดยสาธุชนที่แห่กันมาใส่บาตรจำนวนมากนั้น มีทั้งคนรุ่นหนุ่มสาวไปจนถึงผู้อาวุโสที่หน้าตาบ่งบอกถึงความสุขอย่างเต็มเปี่ยม (ดูภาพบรรยากาศเต็มๆ ได้ที่ www.dmgbooks.com)
เหตุการณ์อันปีตินี้ทำให้รำลึกถึงสมัยพุทธกาลตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสด์เพื่อโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมากมิได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ แต่กลับเสด็จบิณฑบาตไปตามถนนหนทางในเมืองเพื่อโปรดชาวเมืองที่ตั้งหน้ารอคอยการใส่บาตรอย่างใจจดใจจ่อและตื่นเต้น ด้วยไม่เคยคิดว่า พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นกษัตริย์โดยพระชาติกำเนิด จะเสด็จภิกขา แปลความหมายให้สุภาพหน่อยก็คือ เที่ยวขอเขากิน
พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก รีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า ‘เหตุไฉนพระลูกเจ้าจึงมาเสด็จเที่ยวบิณฑบาตให้เป็นที่อัปยศ ผิดธรรมเนียมของกษัตริย์ขัตติยวงศ์ของเรา ทำไมจึงไม่เสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศน์’
พระพุทธเจ้าตรัสบอกพุทธบิดรว่า ‘ธรรมเนียมการเสด็จภิกขาจารเพื่อบิณฑบาตนี้ มิใช่เป็นธรรมเนียมของขัตติวงศ์ก็จริง แต่เป็นธรรมเนียมของพุทธวงศ์ (วงศ์ของพระพุทธเจ้า) ธรรมเนียมของผู้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกนั้น ต้องเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ การบิณฑบาตนั้นเป็นอาชีพอันสุจริตของนักบวชในพุทธวงศ์”
พระองค์ทรงขาดจากขัตติยวงศ์แล้ว ขาดเมื่อตอนเสด็จออกบวชก็หาไม่ ขาดเมื่อคราวบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็หาไม่ แต่ขาดเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ได้ชื่อว่าทรงตั้งอยู่ในพุทธวงศ์
พระอาจารย์อารยะวังโสภิกขุ เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ได้เมตตาขยายความหมายและความสำคัญของการเสด็จภิกขาจารเพื่อบิณฑบาตว่า เป็นพุทธประสงค์ที่ให้สงฆ์สาวกได้เดินขอข้าวจากชาวบ้าน เพื่อเป็นการขัดเกลาและลดทิฐิมานะ เป็นการฝึกการสำรวมระวังอินทรีย์และเจริญสติ ในขณะเดียวกันเป็นการประกาศเขตแดนของพระพุทธศาสนา และเป็นการโปรดญาติโยมให้รู้จักการสละทาน
การบิณฑบาตถือเป็นหนึ่งใน 13 ธุดงควัตร มีคุณประโยชน์สำหรับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประสงค์เดินตามรอยบาทพระศาสดาอย่างแท้จริง คือ เป็นการยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษไม่มีภัยไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวง ไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน มีประโยชน์ในทางสำรวม เป็นเครื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นการกำจัดเสียซึ่งมานะ เป็นการตัดเสียซึ่งวิตกชั่ว ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดเสียซึ่งความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน ฯลฯ
หากเราพิจารณาอย่างรอบคอบจะซาบซึ้งในพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่และความรักอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ต่อสงฆ์สาวกเพื่อให้มีความเป็นอยู่อย่างสมถะ สันโดษ เสียสละ ลดละการอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่านเป็นอิสระพ้นจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย เอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา สามารถบำเพ็ญความเพียรได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อเราชาวพุทธได้เข้าใจเช่นนี้ก็สามารถแสดงความรักต่อพระศาสนาได้เช่นกัน อย่างน้อยก็พึงระลึกถึงความดี ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นแบบอย่างงดงามแก่สงฆ์สาวกได้ปฏิบัติตาม.