คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “การพัฒนาสมอง” เท่านั้น คือสูตรสำเร็จของของความเป็นอัจฉริยะ
ตามหลักพุทธศาสนา สิ่งที่สร้างทุกอย่าง กำหนดความเป็นไปของทุกอย่าง ไปจนถึงทำลาย ทุกอย่างได้ นั่นคือ “เหตุและปัจจัย” หรือทางภาษาธรรมเรียกว่า “อิทัปปัจยตา” เพราะมีเหตุปัจจัย สิ่งนี้จึงมี ทุกสิ่งเชื่อมโยง เกิดขึ้น มีอยู่ เสื่อมลง และดับไป เป็นกฎธรรมดาแต่ทรงพลัง เพราะเป็นต้นเหตุและปลายทางของทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้
แต่กฎธรรมดาของธรรมชาตินี้เองที่สามารถทำให้เรากลายเป็นอัจฉริยะได้ ด้วยการเข้าใจและเข้าถึงการเชื่อมโยงจิตสู่ความคิดที่ดีงาม แบ่งปันสู่สรรพสิ่งและเพื่อนมนุษย์ จนนำพาชีวิตสู่วิธีคิดของอัจฉริยะ เช่นเดียวกับผู้ที่สร้างผลงานชิ้นเอกจนถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก ไม่ว่าจะเป็นเลโอนาโด ดาวินชี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สตีฟ จอบส์ และที่เด่นชัดที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระอัจฉริยะภาพในทุกด้าน และทุกด้านล้วนสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมของคนไทยทั้งหมด
ผู้นำเสนอแนวคิดนี้คือ ดร. ปริญเนตร สุวรรณศรี หรือ ครูโน้ต ผู้เขียนหนังสือ “จิตอัจฉริยะ Genius 7” และเป็นผู้ก่อตั้ง “สถาบันครูโน้ต” ที่มุ่งสร้างเสริมจินตนาการ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุข และสร้างเครือข่ายทางปัญญา รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเด็กไทยในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันศิลปกรรมระดับโลก
ครูโน้ตกล่าวว่า ความเป็นอัจจริยะย่อมเกิดจาก จิตอัจฉริยะ ซึ่งก็คือ จิตที่ว่าง แต่เปี่ยมด้วย องค์ความรู้ที่เชื่อมโยงสรรพสิ่ง จึงพร้อมรับมือได้กับทุกสถานการณ์ ทุกปัญหา ทุกสภาวะอย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยมีหลักคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับให้เกิดพลังรอบทิศทางอย่างไร้ขอบเขตทั้งเป็นกระบวนการฝึกจิตให้คิดแตกแขนงจากสิ่งหนึ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่งแบบต่อเนื่องแล้วเชื่อมโยงด้วยหลักเหตุและผลที่มองเห็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตและสร้างคุณค่าแก่โลก
การสร้างจิตอัจฉริยะเริ่มต้นจาก การมองทุกสิ่งด้วยกระบวนการ “ง่าย งอก งาม” เปลี่ยนพลังด้านลบให้เป็นพลังด้านบวก ซึ่งจะทำให้เรารู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ทุกครั้ง
ครูโน้ตยกตัวอย่าง “หลัก 7 ประการของดาวินชี” ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นอันดับแรก คนเราต้องมีความอยากรู้ เพื่อนำไปสู่การค้นหาคำตอบ ซึ่งในระหว่างการค้นหาคำตอบนั้นเอง เราจะได้พัฒนาการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและสามารถคิดได้ก้าวหน้าขึ้นเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะ “มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน สัมผัสแต่ไม่รู้สึก กินแต่ไม่รู้รส เคลื่อนไหวแต่ไม่รู้ตัว สูดหายใจแต่ไม่รับรู้กลิ่น และพูดโดยไม่คิด”
จิตอัจฉริยะจึงเป็นพลังที่ผลักดันเราออกไปแสวงหาความรู้ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ การตั้งคำถามอาจเริ่มจากสิ่งที่อยู้ใกล้ตัวเราแต่เราไม่เคยสนใจมันอย่างจริงจัง การคิดจะนำไปสู่กระบวนการคิดที่หลากหลายมาก เช่น คิดวิเคราะห์ คิดวิจารณ์ คิดสร้างสรรค์ คิดต่อยอด คิดยืดหยุ่น คิดปรับปรุง การคิดด้วยจิตอัจฉริยะยังสามารถวิเคราะห์ได้ลุ่มลึกแต่เรียบง่าย และด้วยจิตที่คิดบวกจะทำให้เราได้คำตอบหรือแนวคิดที่ดี คมคายและเหมาะสมต่อปัญหาเสมอ
ครูโน้ตกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนเราทุกคนล้วนแต่มีจิตอัจฉริยะอยู่ในตนเอง หน้าที่ของเรา ก็แค่ค้นหามันให้เจอ และเมื่อเราพบเจอแล้ว เราจะพบวิถีทางแห่งชีวิตและความสุขอย่างแท้จริง เพราะเราจะสามารถใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับสิ่งที่เรารัก ถนัด ชื่นชอบ และเต็มใจทำซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะก่อเกิดเป็นคุณค่าอย่างมหาศาลต่อส่วนรวม หากเรารู้จักหลอมรวมนำธรรมะ อันเป็นวิธีการของธรรมชาติมาเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน”
ยังมีหลักอีกหลายข้อในการพัฒนาจิตของเราสู่ความเป็นจิตอัจฉริยะ ถ้าคุณผู้อ่านสนใจลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะครับ
ที่มา : คม ชัด ลึก (ดนัย จันทร์เจ้าฉาย)