ปัญญาและกายทิพย์สว่างไสว
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา (“พรรษา” แปลว่า ฤดูฝน, “จำ” แปลว่า อยู่)
พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน

การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น”ขาดพรรษา” แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก็คือ
1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

ในช่วง วันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นอีกวันที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะถือโอกาสเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ แต่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เรามักจะเห็นพร้อมๆ กันกิจกรรมการทำบุญคือ “ถวายเทียนพรรษา”
ในอดีตมีเรื่องเล่าว่าในระหว่างวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะไม่สามารถไปจำวัดที่อื่นได้ และประกอบกับว่าในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน วัดในต่างจังหวัดไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยแสงสว่างจากเทียน ญาติโยม จึงมีการถวายเทียนในวันเข้าพรรษา เป็นที่มาของการ “แห่เทียนเข้าพรรษา” นั่นเอง
โดยการทำบุญด้วยการถวายเทียนแบบนี้ มีอานิสงส์ผลบุญที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การทำบุญด้วยวิธีอื่นๆ แต่จะได้อานิสงส์อย่างไรบ้าง ผมมีข้อมูลมาเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบ
โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือหลวงพ่อพระราชพรหมยานเล่าถึงเรื่องราว อานิสงส์การถวายเทียนหรือหลอดไฟในวันเข้าพรรษาว่า “การถวายเทียนเข้าพรรษา หรือว่า ถวายกระแสไฟในพระพุทธศาสนา เหมือนกัน อย่างนี้ถ้าเกิดเป็นเทวดาจะมีรัศมีกายสว่างมากถ้าบรรลุมรรคผล จะเป็นบุคคลผู้เลิศในทิพจักขุญาณ อย่างพระอนุรุทธ”
พระอนุรุทธท่านได้ถวายเทียนเข้าพรรษาตลอดมา ถวายพระประทีปโคมไฟวัดไหนมืดชอบถวายตะเกียงบ้างน้ำมันบ้างให้มีแสงสว่าง ต่อมาในชาติสุดท้าย เมื่อเป็นพระอรหันต์วิชชาสาม ท่านสามารถมีทิพจักขุญาณสว่างกว่าพระอรหันต์ทั้งหมด แม้แต่ พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณก็ยังสู้ไม่ได้
อีกประการหนึ่ง ถ้าท่านทั้งหลายไปเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม ก็จะมีรัศมีกายสว่างมาก เพราะเทวดา นางฟ้า และพรหมเขาถือรัศมีกายเป็นสำคัญเขาไม่ถือเครื่องแต่งกายเป็นสำคัญ องค์ไหนถ้ารัศมีกายสว่างมากองค์นั้นมีบุญมาก เมื่อมีจิตใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชาเช่นนี้ พระชินศรีตรัสว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ดังพระบาลีว่า “ปูชาปูชะนียานัง เอตัมมังคลมุตตมัง” การบูชาบุคคลผู้ควรบูชาเป็นมงคลอันสูงสุด อนึ่งชื่อว่าได้ขวนขวายในกิจ อันปราศจากโทษความเดือนร้อนในภายหลังมิได้ ย่อมได้รับผลพิเศษทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

การถวายเทียนพรรษานี้เป็นโบราณประเพณีที่ทำสืบๆ มาเป็นเวลาช้านาน เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา ภิกษุทั้งปวงต้องจำพรรษาในอาวาสของตน 3 เดือน พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงได้จัดทำให้เป็นกุศลพิธีขึ้น เมื่อได้นำเทียนไปถวายพระสงฆ์แล้ว ท่านก็จะได้จุดบูชาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ส่งผลให้ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงส์ คือ
1. ทำให้เกิดปัญญา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
2. ทำให้สว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมทำให้มีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ
3. ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาให้ร้ายกลายเป็นดี
4. เจริญไปด้วยมิตรบริวาร
5. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
6. เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
7. เมื่อลาลับโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์
8. หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน

คำถวายเทียนพรรษา
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอมอบถวาย เทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวารไว้ ณ พระอุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษานี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา มูลนิธิธรรมดี องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีคำขวัญว่า เป็นประทีปแห่งความดี เพื่อชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และเพื่อนมนุษย์ ได้ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวแทนพุทธศาสนิกชน ปวงชนชาวไทย ได้เชิญเทียนพรรษาจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ไปน้อมถวายแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั่วประเทศทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ปีละประมาณ 30 วัด
ประเพณีการขอขมาคารวะ
นอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในช่วงสามเดือนแล้ว มูลนิธิธรรมดียังได้สืบทอดประเพณีการขอขมาคารวะซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์และฆราวาสญาติโยมในเทศกาลเข้าพรรษา คือ พระสงฆ์จะไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระ ที่อาจจะพลั้งเผลอล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเวลาหากมีความประมาท ก่อนอธิษฐานเข้าพรรษาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ คือการกราบขอขมาคารวะต่อพระรัตนตรัย จากนั้นก็จะมากราบขอขมาคารวะต่อพระเถระในอารามที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษา หลังเข้าพรรษาก็จะนิยมเดินทางไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระทั้งหลายตามวัดต่างๆ ขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้ ดังนั้น หลังวันเข้าพรรษาตามอารามต่างๆ ที่มีพระเถระผู้มีตำแหน่งในการผู้ปกครองคณะสงฆ์อยู่ จึงมีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่างๆ เดินทางมากราบขอขมาคารวะต่อพระเถระ ณ อารามทั้งหลาย
สำหรับธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะ หรือบางครั้งเรียกว่า “ทำวัตร” ของพระวัดป่าปฏิบัติสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้น นิยมกระทำกันในช่วงก่อนหรือระหว่างเข้าพรรษา (และช่วงเวลาอื่นๆ ตามโอกาสอันเหมาะสมด้วย) ปกติก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจากหลายวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันมักจะมารวมตัวกันที่วัดใดวัดหนึ่งในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นวัดที่มีพระเถระผู้มีอายุพรรษามากและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพเลื่อมใสในหมู่พระภิกษุสามเณร เพื่อกราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรม อันเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และยังเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมกำจัดกิเลสในช่วงฤดูเข้าพรรษาอย่างเต็มที่
ธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรมนี้ ไม่เพียงแต่จะทำกันในช่วงก่อนเข้าพรรษาอย่างเดียว ในช่วงระหว่างเข้าพรรษา ๓ เดือน พระภิกษุสามเณรท่านก็นิยมที่จะเดินทางไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพื้นที่อื่น ซึ่งอาจจะไกลจากวัดที่จำพรรษาด้วย โดยมักจะเดินทางไปเป็นขบวนใหญ่ ทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยม เพื่อให้ได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมกับพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยกัน โดยเมื่อเดินทางไปถึงวัดเป้าหมาย หมู่คณะที่เดินทางไปทั้งหมดก็จะได้รับการต้อนรับให้พักผ่อนเสียก่อน เมื่อพร้อมแล้ว พระผู้เป็นผู้นำหมู่คณะจะถือพานดอกไม้ธูปเทียนนำขอขมาคารวะ โดยการกราบ ๓ ครั้ง และนำกล่าว “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” ๓ จบก่อนจากนั้นจะนำกล่าวคำขอขมาคารวะเป็นภาษาบาลีว่า
“มหาเถเร ปะมาเทนะ, ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต” (กล่าว ๓ ครั้ง)
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระจงอดโทษซึ่งความผิดทั้งปวงที่พวกข้าพเจ้าได้กระทำล่วงเกินด้วยความประมาทในพระเถระ ด้วยไตรทวาร”
เสร็จแล้วผู้ขอขมาทั้งหมดจะหมอบกราบลงกับพื้นโดยยังไม่เงยหน้าขึ้น พระเถระผู้รับขมาจะกล่าวคำว่า
“อะหัง ขะมามิ ตุมเหหิปิ ขะมิตัพพัง”
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ข้าพเจ้ายกโทษให้ และขอให้พวกท่านพึงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”
ผู้ขอขมาทั้งหมดจะกล่าวรับว่า “ขะมามะ ภันเต”
จากนั้นพระเถระผู้รับขมาจะกล่าวให้พร เมื่อจบแล้ว ผู้ขอขมาทั้งหมดจะกล่าวรับพรว่า “สาธุ ภันเต” แล้วจึงเงยหน้าขึ้นจากพื้น และกราบอีก ๓ ครั้ง ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธี
จากนั้นก็อาจจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อไป ในการกล่าวคำขอขมาคารวะนั้น ถ้าผู้รับขมาเป็นพระมหาเถระผู้มีอาวุโสมาก ให้ใช้คำว่า “มหาเถเร” มีอาวุโสรองจากนั้นให้ใช้คำว่า “เถเร” แทน หรือถ้ามีอาวุโสรองลงมาอีกให้ใช้คำว่า “อาจริเย” แทน ซึ่งผู้ขอขมาควรจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลผู้รับขมา สำหรับพระเถระผู้รับขมาที่กล่าวให้พรนั้น ก็จะให้พรในทำนองว่าสิ่งที่ทำผิดมาแล้วก็ขอให้แล้วไป ให้กลับตัวกลับใจเสียใหม่เริ่มต้นกันใหม่ นอกจากการถวายพานกราบขอขมาคารวะ ถวายเทียนพรรษา เทียนแสงจันทร์ เบอร์ 4 สำหรับพระสงฆ์ใช้จุดเวลาเดินจงกรมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จำเป็นคือ การถวายผ้าอาบน้ำฝน
ทั้งนี้ การถวายผ้าอาบน้ำฝน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี นางวิสาขาได้เห็นพระเปลือยกายอาบน้ำ เนื่องจากจีวรเปียก นางจึงกราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝนให้สมกับสมณสารูป มีความเชื่อที่นับถือกันมานาน ผู้ใดที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้กับพระภิกษุสงฆ์ จะถือว่าเป็นการทำบุญที่ช่วยทำนุบำรุง และสนับสนุนพระศาสนาให้คงอยู่สืบไป และเพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องลำบากในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน แต่จะได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาและช่วยเผยแผ่ให้พระพุทธศาสนา
เจริญรุ่งเรืองสืบไป ผ้าอาบน้ำฝน จึงถือเป็นบริขาร พิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ได้ใช้
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย มิเช่นนั้นพระสงฆ์จะต้องอาบัตินิคสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ต้องทำผ้ากว้างยาวให้ ถูกขนาดตามพระวินัย คือ ยาว ๖ คืบ พระสุคต กว้าง ๒ คืบครึ่งตามมาตราปัจจุบันคือ ยาว ๔ ศอก ๓ กระเบียด กว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียดเศษ ถ้าหากมีขนาดใหญ่กว่านี้ พระสงฆ์ต้องตัดให้ได้ขนาด จึงจะปลงอาบัติได้
ท่านผู้ฟังที่สนใจเข้าร่วมถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน พานกราบขอขมาคารวะ กับมูลนิธิธรรมดี เชิญติดตามที่
Facebook มูลนิธิธรรมดี
หรือ Official Line @dfoundation
ขออนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านครับ
ช่องทางติดตาม Danai Chanchaochai
Facebook: https://web.facebook.com/danai.chanchaochai
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCi2G57nvN5mpyXgap8RIOqg
Twitter: https://twitter.com/dc_danai
Instagram: https://www.instagram.com/dcdanai
Blog: https://dc-danai.com/