12 สิงหาคมที่ผ่านมา หลายคนคงได้รำลึกถึงพระคุณแม่ และได้มอบความสุขใจให้ท่านเป็นการตอบแทน โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา
วันแม่ปีนี้ ผมได้รับเชิญจากท่านกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อประเทศออสเตรเลียเอเดน ไปบรรยายหัวข้อ “แม่ของแผ่นดิน” ให้กับคนไทยในนครซิดนีย์ฟัง
บินเดี่ยวกลัวจะเหงา เลยถือโอกาสควงคุณแม่ น้องสาวและหลานสาวตัวน้อยไปเที่ยวพักผ่อนด้วย เรียกว่าได้ทั้งงาน ได้ทั้งความสุขของครอบครัว
ประเทศออสเตรเลีย แม้จะเป็นประเทศเกิดใหม่มีอายุเพียง 160 ปี มีประชากรประมาณ 21 ล้านคน แต่ก็ถือเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้าน มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 5 – 6 หมื่นคน
ปัจจุบันลูกหลานไทยที่เกิดและโตในออสเตรเลีย ถือเป็นคนไทยรุ่นที่ 2 และเด็กส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้แล้ว แต่มีสิ่งที่น่าชื่นชม คือ เด็กๆ ที่มาร่วมงาน “แม่ของแผ่นดิน” ที่จัดขึ้นเพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมใจกันแต่งชุดไทยมาร่วมกิจกรรม ซึ่งมีการแสดงดนตรีไทยประยุกต์ รำถวายพระพร สวดถวายพระพร 3 ศาสนา (พุทธ คริสต์ อิสลาม) การขอขมาบุพการี และร่วมร้องเพลงค่าน้ำนม เพลงใครหนอ เพลงสดุดีมหาราชา เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติไทย
เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่ประทับใจมากครับ และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนไทยในต่างแดนได้แสดงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของเราชาวไทย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
การไปเยือนออสเตรเลียครั้งนี้ ผมได้นำเรื่องราวที่คนไทยทุกคนตระหนักดีอยู่แล้ว ไปเผยแพร่และย้ำเตือนให้พี่น้องคนไทยในต่างแดนได้ซึมซับถึงเรื่องราวที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงงานเคียงคู่เคียงบ่าเคียงไหล่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตลอดหลายทศวรรษ โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมเยือนพสกนิกรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2498 ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระชนมายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น
นับจากนั้นมาก็ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกหนแห่ง ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนกล่าวได้ว่า ไม่มีที่แห่งใดบนผืนแผ่นดินไทยที่ทั้งสองพระองค์ไม่เคยเสด็จฯ ไปถึง
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทถิ่นทุรกันดาร ทรงตรากตรำพระวรกายบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย เพื่อทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร
และในการเยี่ยมราษฎรนั้น ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพหลักของคนไทย สมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ทรงสนพระทัยในครอบครัวของเกษตรกร ทรงเห็นว่าแม่บ้านมีกำลังความสามารถและมีฝีมือที่จะช่วยแบ่งเบาภาระ และเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว ด้วยการทำงานที่ตนถนัด เช่น การทอผ้า เป็นต้น
ทั้งสองพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทราบว่าชาวบ้านมีศักยภาพและปัญหาอย่างใดในการประกอบอาชีพหรือไม่ ทรงซักไซ้สอบถาม เมื่อทรงทราบและเสด็จฯ กลับมาแล้ว ก็ทรงหาวิธีที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพและช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นทันที
อันเป็นที่มาของโครงการตามพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ที่ในปัจจุบันมีอยู่หลายพันโครงการทั่วประเทศ
และด้วยพระมหากรุณาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงทำให้ ผ้าไหมไทย กลายเป็นผ้าที่ต่างประเทศนิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงเป็นแบบอย่างที่งดงามในการถวายพระเกียรติแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชกระแสรับสั่งว่า “…พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า…”
อันเป็นแบบอย่างที่ทุกครอบครัวไทยควรนำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจัง เพื่อครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุข ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาติในที่สุด
“…ก็ได้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดูแลสั่งสอนมาตลอดว่า สิ่งใดควรทำไม่ควรทำบ้าง ทรงสอนให้ข้าพเจ้ารู้จักว่า การที่จะเป็นพระราชินีของไทย จะต้องวางตนอย่างไรบ้าง และมีหน้าที่อย่างไรบ้าง
“…ข้อสำคัญรับสั่งว่า ต้องเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของราษฎร ให้เขามีความสนิทสนมที่ราษฎรจะออกปากเล่าความทุกข์ของเขาให้ฟังได้ และพระองค์ท่านก็ได้ปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่าง ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักการทำตนใกล้ชิดกับราษฎร…”
ครับ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี่แหละครับ ที่สังคมโลกเรากำลังต้องการอย่างหนัก โดยเฉพาะบ้านเราที่กำลังมีปัญหาในหลายๆ ด้าน เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความปรองดองอย่างแท้จริง สังคมเราจะอยู่ได้อย่างมีความสุข เมื่อผู้คนในสังคมมีความไว้เนื่อเชื่อใจกัน มีอะไรก็เปิดอกพูดคุยกัน หาทางออกสำหรับการแก้ปัญหาร่วมกัน
เป็นหลักการทรงงานที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยามที่เสด็จเยี่ยมราษฎร จึงทำให้ทรงทราบถึงเรื่องราวความเป็นไปและปัญหาชีวิตของราษฎรทั่วทุกหนแห่ง
เพราะความไว้วางใจ เป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ระหว่างเพื่อน หรือกับคนรัก ซึ่งการจะได้รับความไว้วางใจจากคนอื่นนั้น เราจะต้องมีข้อปฏิบัติ 4 ประการ คือ หนึ่ง มีบูรณภาพ หมายถึง พูดอย่างไรทำอย่างนั้น กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน กล้าที่จะยืนหยัดทำทุกอย่างให้สอดคล้องกับค่านิยมและความเชื่อ สอง มีเจตนาดี ไม่หลอกลวงใคร ไม่มีวาระซ่อนเร้น สาม มีความสามารถในงานที่ทำ และสี่ มีผลการทำงานในอดีตที่ผ่านมาดี
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ฯ ได้กรุณาเล่าให้ฟังในเวทีการเสวนา ‘จากพระมหากรุณาสู่ผ้าปัก’ ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถจะทรงเน้นเรื่องการรักษาสัจจะวาจาอย่างยิ่ง เมื่อรับปากชาวบ้านแล้วว่าจะกลับไปอีก ชาวบ้านจะตั้งหน้าตั้งตารอ ใช้เวลาแรมเดือนแรมปี ทอผ้า ปักผ้า เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย จึงเป็นสิ่งที่ข้าราชบริพารทุกคนที่ทำงานถวาย ต้องทำให้ได้อย่างที่ได้รับปากไว้
การรักษาสัญญา การให้เกียรติต่อกัน เป็นเรื่องเล็กๆ ที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ เป็นการแสดงถึงความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น นำมาสู่ความไว้วางใจ เป็นพระราชธรรมที่งดงามยิ่งจาก ‘แม่ของแผ่นดิน’ ที่ทุกคนควรปฏิบัติตาม.
ที่มา : Post Today