วันก่อนผมได้ไปร่วมงานเสวนาแนะนำหนังสือ ‘ดร. อัมเบ็ดการ์ รัตนบุรุษแห่งชมพูทวีป’ เรียบเรียงโดยพระอาจารย์อารยะวังโส พระวิปัสสนาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน เจ้าอาวาสวัดป่าหริภุญไชย จังหวัดลำพูน แม้ว่าชื่อของ ‘ดร. อัมเบ็ดการ์’ จะไม่เป็นที่คุ้นหูของคนไทยนัก แต่บุรุษท่านนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นจัณฑาลผู้ก้าวข้ามชั้นวรรณะขึ้นมาเป็นบิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย ด้วยวิถีการต่อสู้แบบพุทธเพื่อปลดแอกชนชั้นที่ฝังรกรากมากว่าห้าพันปีในชมพูทวีป ประวัติความเป็นมาและวีรกรรมของท่านจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
น้อยคนนักที่จะได้รับทราบว่า ธงชาติอินเดียนั้นมีกงล้อธรรมจักรสีส้มแห่งพระพุทธศาสนาประทับอยู่ตรงกลางด้วยฝีมือของ ดร. อัมเบ็ดการ์ท่านนี้ แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลักก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น สัญลักษณ์แห่งรัฐบาลอินเดียก็เป็นรูปสิงห์สี่หน้าของพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักรพรรดิ์ผู้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระธรรมออกไปจากชมพูทวีปในทุกทิศทาง ก็ด้วยฝีมือของ ดร. อัมเบ็ดการ์ท่านนี้เช่นกัน
ดร. อัมเบ็ดการ์เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศอินเดีย และเป็นฉบับเดียวที่ยังคงใช้สืบเนื่องกันมานับแต่นั้น ต่างกันลิบลับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีการเขียนใหม่กันไม่รู้กี่ครั้งกี่หน และจะยังคงเขียนกันใหม่ต่อไป!
ดร. อัมเบ็ดการ์เกิดในครอบครัวของจัณฑาลหรืออธิศูทร จึงต้องตกอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์โครงสร้างทางสังคมฮินดูที่จัดแบ่งกลุ่มชนตามวรรณะ อันจำแนกตามสายเลือด จึงได้รับผลกระทบมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ครั้งหนึ่งเขาต้องการตัดผม แต่ช่างตัดผมปฏิเสธ โดยกล่าวว่า ยินดีตัดผมให้แก่คนทุกคน หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แต่เขาจะไม่ยอมให้กรรไกรของเขาแตะต้องผมของพวกนอกวรรณะอย่างเด็ดขาด!
ในสังคมฮินดูจะแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ยึดถือตามอาชีพและสายเลือดของแต่ละตระกูล และกำกับให้คนแต่ละวรรณะต้องสมสู่กันเฉพาะในวรรณะของตนเท่านั้น ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่พราหมณ์เป็นผู้กำหนดขึ้น เพราะพราหมณ์เป็นวรรณะเดียวที่สามารถศึกษาและสั่งสอนพระเวทได้ ส่วนคนในวรรณะอื่นไม่สามารถสอนได้ จึงเป็นวรรณะที่มีอภิสิทธิ์เหนือวรรณะอื่น
ส่วนพวกที่อยูนอกวรรณะ หรืออวรรณะถือเป็นวรรณะที่ 5 ของสังคมฮินดู ได้แก่ จัณฑาลหรืออธิศูทร ซึ่งแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พวกที่แตะต้องไม่ได้ พวกที่เข้าใกล้ไม่ได้ และแย่ที่สุด คือ พวกที่มองดูก็ไม่ได้ ถือว่าเป็นเสนียดจัญไรอย่างที่สุด
ดร. อัมเบ็ดการ์กล่าวว่า ‘เราเกิดมาจากครอบครัวจนๆ มีชีวิตอยู่ร่วมกับคนจน นอนกับพื้นอันเปียกแฉะ สกปรก เหมือนคนจนทั้งหลายที่กำลังประสบ เราเคยถูกประณามว่าเป็นตัวเสนียดจัญไรของคนวรรณะอื่น ดังนั้นตำแหน่งหน้าที่ที่เราได้รับอยู่ จะทำให้เราลืมความหลังไม่ได้เลย’
วีรกรรมที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วสังคมอินเดียและทั่วโลก คือ การที่ ดร. อัมเบ็ดการ์ได้นำชาวอินเดียห้าแสนคนประกาศตัวเป็นพุทธมามกะพร้อมกัน ที่เมืองนาคปุระ ในวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 โดยได้ตั้งปฏิญญา 22 ข้อ ด้วยคำกล่าวสรุปที่ว่า ‘ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน’
เขาได้ให้เหตุผลในการหันมานับถือศาสนาพุทธ จากการสัมภาษณ์วิทยุบีบีซีที่กรุงลอนดอนว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จะให้สันติสุขแก่โลกได้ พุทธศาสนาไม่ได้อ้างว่า พระเจ้าหรือความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ สร้างสังคมและคุ้มครองสังคม และสังคมจะอยู่เป็นสุขได้ด้วยสมาชิกของสังคมเอง ที่รู้จักเมตตากรุณาและสมานัตตา’ อ่านแล้วอดไม่ได้ที่จะสะท้อนกลับมาถึงความจริง ที่กำลังเกิดในสังคมพุทธอย่างประเทศไทย!
‘คนเราไม่ใช่ดีเพราะโคตร ไม่ใช่ดีเพราะตระกูล ไม่ใช่ดีเพราะทรัพย์ แต่จะดีหรือชั่ว อยู่ที่การกระทำของบุคคลนั้นๆ’ เป็นพุทธภาษิตประจำใจของรัตนบุรุษแห่งชมพูทวีปท่านนี้
โชคดีจังเลยที่ได้อ่านเรื่องนี้ ^^
ขอณุญาติไปโพสต์ในบล็อกค่ะ
โพสต์ได้เต็มที่เลยครับ!
คุณพี่ดนัย เมื่อวานSCBจัดสัมนา นู๋ตอบคำถามคุณพี่ได้หนังสือแต่ด้วยความใหม่ที่ห่ออย่างดี ก็เลยอดลายเซ็นต์ไว้เป็นขวัญใจเลย ทำงัยดีง่ะ