จากพระมหากรุณาธิคุณสู่ผ้าปัก : คอลัมน์ ศิลาในน้ำเชี่ยว โดย… ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
“นิทรรศการงานปักศิลปาชีพ” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมน่าสนใจในช่วงนี้ ที่ผมอยากประชาสัมพันธ์และชักชวนให้ทุกท่านไปเยี่ยมชม
นอกจากเราจะได้ตื่นตากับความงดงามของภาพปักซอยแบบไทยโบราณฝีมือประณีต ซึ่งหาชมได้ยากจำนวนหลายร้อยชิ้นที่เกิดจากความตั้งใจของศิลปินชาวไร่ชาวนาจากทั่วประเทศ โดยจัดแสดงเคียงคู่กับภาพวาดต้นแบบโชว์ให้เห็นถึงความเหมือนกันแบบชัดๆ ผลงานศิลปะเหล่านี้ยังเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักความผูกพันระหว่างคนไทยกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่งดงามและล้ำลึกเกินบรรยาย
ท่านผู้หญิงจรุงจิตติ์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เล่าว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านศิลปหัตถกรรมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าซิ่น ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปถักทอขึ้นเองเพื่อไว้สวมใส่ในครัวเรือน โดยครั้งหนึ่งเคยมีชาวบ้านถามเมื่อพระองค์ตรัสขอผ้าเหล่านี้ว่า “จะสั่งไปใส่ทำไม นี่มันผ้าคนใช้ทั้งนั้น”
แต่พระองค์ท่านทรงยกย่องผืนผ้าเหล่านี้ว่า ไม่ได้ด้อยกว่าใครเลย ชาวบ้านมีภูมิปัญญามีสติปัญญาที่จะทำ แล้วผ้าเหล่านั้นพระองค์ก็จะทรงใช้และทรงชักชวนให้ผู้อื่นใช้ด้วยเช่นกัน อันเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในเวลาต่อมา
พระองค์ทรงทำหน้าที่เสมือนทูตทางวัฒนธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยทรงเป็นต้นแบบและผู้นำการแต่งกายแบบสตรีไทยอย่างแท้จริง และยังเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้ทั่วโลกได้ประจักษ์เป็นที่ประทับใจทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเยือนต่างประเทศหรือในโอกาสต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลกจำนวน 2,000 คน ต่างเฉลิมพระเกียรติให้ทรงเป็น 1 ใน 10 สุภาพสตรีที่แต่งกายงดงามที่ในโลก ในปีพ.ศ.2503 และ 2504 และทรงเป็นสุภาพสตรีผู้แต่งกายดีที่สุดในโลกในปีพ.ศ.2506 และ 2507 อีกทั้งยังได้รับการจารึกพระนามาภิไธยในหอแห่งเกียรติคุณ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะ 1 ใน 12 สุภาพสตรีที่แต่งกายงดงามที่ในโลกในปีพ.ศ.2508
กระทั่งนิตยสารโว้ค ที่ปารีส ยังลงพระฉายาลักษณ์พระองค์ในหน้าแฟชั่นถึง 7-8 หน้า ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯไปเยือนต่างประเทศในช่วงแรกๆ โดยทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทยได้อย่างงดงามยิ่ง
ทั้งหมดนี้แสดงถึงพระราชกุศโลบายอันแยบคายของพระองค์ท่าน ซึ่งก่อประโยชน์มหาศาลในหลายด้าน การส่งเสริมอาชีพด้านศิลปหัตถกรรมแก่ราษฎรของพระองค์ ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงครอบครัว พ่อแม่ไม่ต้องทิ้งลูกเพื่อมาหางานทำในเมือง ครอบครัวมีความรักความอบอุ่นไม่ห่างไกลกัน สร้างรากฐานความมั่นคงแผ่ขยายต่อไปถึงระดับตำบล ชุมชน และประเทศชาติ ทั้งยังช่วยสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนหันกลับมาเห็นถึงคุณค่าของผืนผ้าไทย
ผมเชื่อว่าเอกลักษณ์ความเป็นไทยนั้น ไม่ได้ตัดสินกันจากรูปร่างหน้าตาหรือผิวพรรณ แต่เป็นเรื่องการแต่งกาย กิริยามารยาท ภาษา และวัฒนธรรม ศิลปและขนบประเพณี ซึ่งล้วนมีที่มาจาก 2 สถาบันหลักของชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นั่นคือ วัดและวัง ที่หล่อหลอมตัวตนให้เราเป็นเราในทุกวันนี้
นิทรรศการ “งานปักศิลปาชีพ” ยังเปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เวลา 10.00-19.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ
ที่มา: คม ชัด ลึก