เมื่อ 16 มิ.ย. เอเอฟพีรายงานว่า นางอองซาน ซูจี ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญของพม่า ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อย่างเป็นทางการ ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งซูจีเป็นผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้เมื่อปี 2534 ขณะที่ถูกกักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านพัก ทั้งนี้ นายคิม อริส บุตรชายนางซูจี เข้ารับฟังการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ด้วย
นางซูจี กล่าวว่า คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ยอมรับในผลงานการต่อสู้ของเธอ แม้จะถูกกดขี่และโดดเดี่ยวในประเทศพม่า แต่พม่าก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก คณะกรรมการก็ได้ยอมรับถึงมนุษยธรรมว่ามีเช่นกันในประเทศพม่า นางซูจี ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่ทั้งหมด
ในตอนท้าย ซูจี กล่าวขอบคุณผู้ที่มีความรักในเสรีภาพ และความยุติธรรมทั่วโลก ที่ยังคงติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบสำคัญให้เกิดการปฏิรูป ซึ่งนำเธอมาสู่เวทีรางวัลโนเบลได้ในครั้งนี้
ด้านเอพีสรุปคำกล่าวสุนทรพจน์ของนางซูจีที่สำคัญ เป็นหัวข้อดังนี้
พลังของรางวัลสันติภาพ
“หลายครั้งในช่วงที่ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก ทำให้คิดไปว่าฉันคงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่แท้จริงอีกแล้ว การได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพทำให้ฉันมีตัวตนขึ้นมาอีกครั้ง รางวัลนี้ดึงฉันกลับมาสู่สังคมมนุษย์ที่กว้างใหญ่ขึ้น และที่สำคัญกว่านั้น รางวัลโนเบลได้ดึงความสนใจของโลกมาสู่การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า ว่าเราจะไม่ถูกลืม”
การเพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่นกระตุ้นให้เกิดสงคราม
“สงครามโลกครั้งที่ 1 แสดงถึงการใช้วัยหนุ่มสาวและศักยภาพไปอย่างสิ้นเปลืองน่าใจหาย เป็นการถลุงทรัพยากรมีค่าของโลกอย่างโหดร้าย และเพื่ออะไรหรือ เกือบศตวรรษที่ผ่านมา เราก็ยังไม่พบคำตอบที่น่าพอใจ เรายังไม่รู้สึกผิดกันอีกหรือ หากความรุนแรงที่แม้ลดระดับลง ความประมาท ความเลินเล่อจะยังมีผลต่ออนาคตและมนุษยชาติของเรา สงครามไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ซึ่งสันติภาพถูกบีบให้ตายเท่านั้น แต่ที่ใดก็ตามที่ความทุกข์ร้อนถูกละเลย นั่นจะเป็นเมล็ดพันธุ์ความขัดแย้ง และเมื่อความทุกข์ทรมานนั้นถูกลดความสำคัญลง ก็จะกลายเป็นความเคืองแค้นและเดือดดาล
เราอยู่ในยุคเรืองปัญญา
“เราโชคดีที่อยู่ในยุคที่ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมและมนุษยธรรมเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เพียงเพราะพึงปรารถนา แต่ยังถือเป็นเรื่องจำเป็น ดิฉันโชคดีที่ได้อยู่ในยุคนี้ ในยุคที่ชะตากรรมของนักโทษแห่งมโนธรรมไม่ว่าอยู่ที่ใด ก็เป็นเรื่องห่วงใยของผู้คนในทุกๆ ที่ เป็นยุคที่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแผ่ขยาย ถึงจะไม่ทั่วถึงไปหมด แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของทุกคน
สันติภาพสมบูรณ์แบบต้องเป็นเป้าหมายของเรา
“สันติภาพอย่างสิ้นเชิงในโลกนั้นเป็นเป้าหมายที่ยังไม่บรรลุผล แต่นี่เป็นสิ่งที่เราต้องเดินหน้าต่อไปยังเส้นทางนี้ จับตาไว้ราวกับเราเป็นนักท่องเที่ยวในทะเลทรายที่เพ่งมองไปยังดาวนำทาง ที่จะนำไปสู่การรอดชีวิต แม้เราจะไม่บรรลุถึงสันติภาพที่สมบูรณ์แบบบนโลกนี้ แต่ความมุมานะโดยพื้นฐานจะทำให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่รวมเอาบุคคลและประเทศต่างๆ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความเชื่อมั่นและมิตรภาพต่อกัน ช่วยกันทำให้ชุมชนชาวโลกปลอดภัยขึ้นและมีเมตตามากขึ้น”
พลังเมตตาสร้างสันติภาพ
“เมื่อพูดถึงกำลังใจในความขมขื่น คงไม่ได้มีมากมายอะไร แต่ดิฉันได้พบกับสิ่งที่ชื่นใจที่สุดและล้ำค่าที่สุด เป็นบทเรียนที่ทำให้ดิฉันรู้ถึงคุณค่าของความเอื้ออารี ทุกน้ำใจที่ดิฉันได้รับ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทำให้ดิฉันเชื่อว่าจะไม่มีทางเพียงพอในโลกของเรา การมีเมตตาคือการตอบรับความซาบซึ้งและความอบอุ่นของมนุษย์ด้วยความหวังและความต้องการของผู้อื่น แม้จะเป็นน้ำใจเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้หัวใจที่หนักอึ้งนั้นเบาลงได้ ความเมตตานั้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนได้”
จินตนาการถึงโลกที่ปราศจากผู้อพยพ
“เป้าหมายสูงสุดของเราน่าจะเป็นการทำให้โลกนี้ปราศจากผู้อพยพ คนเร่ร่อนไร้บ้าน และผู้สิ้นหวัง โลกในทุกส่วนทุกมุมจะเป็นสถานที่หลบภัยของคนที่ไร้ถิ่นฐานได้มีเสรีภาพและวิสัยที่จะอยู่ในสันติภาพได้ ทุกความคิด ทุกคำพูด ทุกการกระทำที่เป็นไปในทางบวกและส่งเสริมสุขภาพนั้นเป็นการสนับสนุนสันติภาพ พวกเราในแต่ละคนและทุกคนต่างอยู่ในวิสัยที่จะสนับสนุนแบบนั้นได้ ขอให้เราร่วมมือกันพยายามสร้างโลกสันติภาพที่เรานอนหลับได้อย่างปลอดภัยและตื่นขึ้นมาอย่างเป็นสุขเถิด”
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์