ดร.สุเมธ แนะคนไทย โดยเฉพาะเยาวชน ควรรู้จักการให้ทานและบริจาคเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน พร้อมย้ำการทำความดีเหมือนเล่นกีฬา ต้องทำให้สนุกและหมั่นทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย จะปลูกฝังการทำความดีนั้นอยู่ในจิตใจตลอดไป เตือนอย่าคิดว่าการโกงของคนอื่นไม่กระทบถึงตัวเรา เพราะหากมีคนโกงในสังคมมากขึ้น ก็จะบ่อนทำลายประเทศชาติจนย่อยยับ และส่งผลกระทบต่อตัวเราในอนาคตอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้การต้อนรับคณะผู้จัดโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย ปี 2 ในกาสที่ได้นำ 8 เยาวชนทูตความดี ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนจากทั้งสี่ภาคทั่วประเทศเข้าเยี่ยมคารวะและรับฟังโอวาท โดยโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย ปีนี้จัดเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด ImagineThailand! “เปลี่ยนอนาคตประเทศไทย ด้วยหัวใจเยาวชน” ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สถาบันวิมุตตยาลัย และหน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ อีกหลายองค์กร นำโดย สถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับรายชื่อเยาวชนทูตความดี ปี 2 จาก 4 ภาคทั้ง 8 คน ได้แก่ นางสาวธวัลหทัย แสงงิ้ว นางสาวสุคัณญภา โพธิรักษ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ตัวแทนจากภาคใต้ ส่วนตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นายปภังกร มีแก้ว และนางสาววัชราภรณ์ ถมจอหอ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนจากภาคเหนือ ได้แก่ นายฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร จากเชียงใหม่ และนางสาวภัสวรรณ ลังกาวงษ์ จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ และตัวแทนจากภาคกลาง ได้แก่ นายวิทิกรณ์ รังนกใต้ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายทศพร ล้อเพชรรุ่งเรือง จากโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ ดร.สุเมธ ได้ให้ข้อคิดแก่เยาวชนเพื่อนำไปปฏิบัติ คือ เกิดเป็นคนควรรู้จักการให้ (ทาน) และการบริจาค ซึ่งเป็น 2 ข้อในหลักทศพิธราชธรรม เพราะการให้ คือ การทำเพื่อคนอื่นก่อนโดยไม่ต้องนึกถึงว่าเราจะได้อะไรตอบแทน เป็นการให้จากหัวใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ในขณะที่การบริจาค หากพวกเราทุกคนรู้จักการเสียสละ บริจาคคนละเล็กคนละน้อยก็จะรวมเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ อย่างเช่น การบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียน หรือ โรงพยาบาล เป็นการเสียสละส่วนตนเพื่อความสุขของส่วนรวม คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้มาก
สำหรับหลักทศพิธราชธรรมนั้นเป็นหลักธรรมที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ ประกอบด้วย 1. ทาน คือการให้ เสียสละ นอกจากสละทรัพย์สิ่งของแล้วยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย 2. ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ 3. บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม 4. ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต 5. ความอ่อนโยน คือ การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า 6. ความเพียร คือ มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน 7. ความไม่โกรธ คือ ความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ 8. ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่เบียดเบียนหรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น 9. ความอดทน คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย 10. ความเที่ยงธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ
ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า การทุจริตเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินความเจริญของบ้านเมือง อย่าคิดว่าการโกงของคนอื่นไม่กระทบถึงตัวเรา หากมีคนโกงในสังคมจะบ่อนทำลายประเทศจนเสียหายย่อยยับ อนาคตจะมีผลกระทบถึงตัวเราแน่นอน หากเพ่งพิจารณาดูดีๆ ประเทศชาติของเราอยู่ในวิกฤตเหมือนคนเป็นโรคมะเร็งที่ถูกกัดกินไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว สุดท้ายก็จะจบลง และมะเร็งที่ร้ายที่สุด ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ ประเทศไทยไม่เคยสอบผ่านเลยในเรื่องนี้ อยู่ในอันดับที่ 80 จาก130 กว่า สิ่งที่น่าเศร้าคือเวลาคะแนนจะดีขึ้นก็กลับร่วงตกลงไปอีก สิ่งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังหรือเปล่า ตลอด 20 ปีมีการดำเนินการปราบปรามการทุจริตกันมาตลอด แต่ไม่เคยหมด สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ อาการที่น่าเป็นห่วงเพราะไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น
ท่านได้ฝากข้อคิดให้เยาวชนได้ตระหนักให้มากถึงเรื่องการทำความดี โดยเปรียบเทียบการทำความดีเหมือนการเล่นกีฬา ต้องหมั่นทำความดีอย่างต่อเนื่อง ในตอนแรกอาจรู้สึกฝืนบ้าง หากได้ทำอย่างต่อเนื่องจะชินเป็นนิสัย และการทำความดีนั้นจะฝังลึกอยู่ในจิตใจตลอดไป และที่สำคัญต้องมีสติและปัญญาคอยกำกับ หากทุกคนมีสติรู้ตัวจะหยุดทำในสิ่งที่ไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นต้องฝึกการมีสติอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังแนะด้วยว่า ขอให้ทุกคนสนุกกับการทำความดี เพราะหากเราสนุกในการทำความดีก็จะมีแรงผลักดันไปสู่ความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบ้างก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ ทั้งนี้ยังเห็นว่าคนสมัยนี้รีบเร่งกับภารกิจในชีวิตประจำวัน พิจารณาแต่สิ่งต่างๆ ภายนอกจนลืมพิจารณาตัวเอง ดังนั้นขอให้กลับมามองตัวเอง ถามตัวเองทุกวันว่า เมื่อวานได้ทำความดีอะไรไปบ้าง ทำทุกวันให้เป็นนิสัย ถ้าวันไหนตอบตัวเองไม่ได้ ก็ให้เริ่มต้นทำความดี เริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองและสังคม
“ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ธรรมดา ทำตัวให้ธรรมดา มันไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดเวลา ชนะอะไรก็ไม่เท่าชนะใจตัวเอง ชนะจากสิ่งยั่วยุ ชนะจากกิเลส ขอให้ทุกคนเรียนรู้ว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน แต่จงใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้น ดังนั้นหากอยากเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ก็ขอให้ประพฤติปฎิบัติกันให้ได้ทั้ง 10 ข้อสำหรับทศพิธราชธรรม เพราะเป็นธรรมะสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพระราชา หากทำได้ชีวิตจะสงบ มีความสุขและพ้นทุกข์ ทุกอย่างไม่ยากที่จะปฏิบัติ ถ้ามีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ” ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย