สีสัน …ของอินเดีย
Posted On วันจันทร์, มีนาคม 18, 2013 By
danai. Under
บทความ

หมู่นี้ชีพจรลงเท้าไปย่ำแดนภารตอยู่บ่อยครั้ง ในรอบไม่กี่เดือนผ่านมา ผมมีโอกาสไปเยือนดินแดนอารยธรรมนี้ถึง 3 ครั้งด้วยกันตั้งแต่เดือน ธ.ค. ไปกับคณะของสวนโมกข์กรุงเทพฯ ฟังธรรมและกราบองค์ทะไล ลามะในหัวข้อ “หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง” โดยมีชาวไทยพุทธและพระสงฆ์เกือบ 400 ชีวิตร่วมเดินทางไปด้วยที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย
เดินทางครั้งที่สองในเดือน ก.พ.ไปยังเมืองมุมไบ เพื่อบรรยายเรื่องกลยุทธ์น่านน้ำสีขาวให้กับกลุ่มนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดียได้รับฟัง เป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลอินเดียที่ประกาศให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จัดสรรกำไร 2% หลังหักภาษี มาทำประโยชน์ให้กับสังคม จึงเกิดกระแสความสนใจในเรื่องกลยุทธ์สีขาวกันอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มว่าผมคงต้องกลับไปชมพูทวีปอีกหลายรอบเพื่อบรรยายเรื่องนี้

สำหรับการเดินทางไปอินเดียครั้งที่สามเป็นการนำพาคณะศรัทธาสาธุชน 38 ชีวิต ไปจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถาน 4 แห่งในประเทศอินเดีย เนปาล ธรรมยาตราตามรอยบาทพระศาสดาซึ่งว่างเว้นมานับสิบกว่าปี จึงอยากนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าสู่กันฟังสำหรับหลายท่านที่ยังไม่เคยไป ไม่กล้าจะไปหรือไปมานานแล้ว ลองมาดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
เรื่องแรกที่คนไทยเป็นห่วงมากที่สุดในการไปอินเดีย คือ ห้องน้ำ! หลายท่านยังคงจำทุ่งมัสตาร์ดสีเหลืองอร่ามเป็นห้องน้ำที่ใหญ่ โอ่โถงและลมเย็นสบายที่สุดในโลก เพราะในอดีตนั้น หากนักเดินทางต้องการทำภารกิจแบบหนักหรือแบบเบา ก็ต้องเคาะให้คนขับหาที่จอดเหมาะๆ สะดวกๆ ไกลหูไกลตาชาวบ้านและมีรหัสกันชัดเจนเพื่อแบ่งโซนไม่ปะปนกัน.. ผู้หญิงด้านซ้าย ผู้ชายด้านขวา พระด้านหน้าชีด้านหลัง (ของรถ) ปรากฏว่า พอรถจอด ทุกคนวิ่งกันแน่บเป็นกิโล หาที่เหมาะๆ เงียบๆพร้อมขน “พร็อพ” ไม่ว่าจะเป็นผ้าถุง ร่ม หรืออุปกรณ์อื่นใดสุดแท้แต่จินตนาการที่จะช่วยปิดบังการทำธุระกลางแจ้ง ไม่ให้ประเจิดประเจ้อเกินควร
ปรากฏว่า หลายท่านวิ่งหาที่ไกลสุดหูสุดตา คิดว่าสมควรแล้ว จึงกางพร็อพออกปฏิบัติภารกิจ ปรากฏว่า ดันไปนั่งทำธุระอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทุกคนจึงมาล้อมวงยืนดูท่ามกลางความอายสุดแสนของผู้แสวงบุญชาวไทย จะลุกขึ้นวิ่งทันทีก็มิเห็นควร เพราะยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ปลดทุกข์ จึงจำยอมให้เป็นเป้าสายตาของแขกมุงทั้งหลาย เมื่อเสร็จธุระจึงวิ่งแน่บกลับมาที่รถด้วยความอาย
แต่นั่นก็เป็นเพียงพฤติกรรมของนักเดินทางไทยในช่วง 2-3 วันแรกของการเดินทางเท่านั้น เมื่อเข้าสู่วันที่สี่ชีวิตที่ปราศจากการปรุงแต่งก็เริ่มปรากฏ เพราะการปลดทุกข์ถือเป็นเรื่องธรรมชาติพอรถบัสจอดเท่านั้นปรากฏว่านั่งทำธุระกันข้างๆ ล้อรถนั่นเลย!จึงเป็นเรื่องที่ผู้เดินทางแสวงบุญในอินเดียมักนำมาเล่าสู่กันฟังเสมอ
แต่การเดินทางครั้งล่าสุดไปอินเดียนั้นภาพเหล่านี้ค่อยๆ จางหายไป เพราะรถบัสที่เราใช้บริการมีห้องน้ำในตัว! เป็น 1 ใน 7 คันที่มีวิ่งอยู่ในอินเดียขณะนี้ เราจึงไม่ได้สัมผัสบรรยากาศทุ่งมัสตาร์ดและลมเย็นรอบทิศทางนอกจากนี้ โรงแรมต่างๆ ก็ผุดขึ้นมามากมายอายุไม่ถึงปีบ้าง ไม่ถึงห้าปีบ้าง ใหม่เอี่ยม และไฟไม่ดับบ่อย ต่างจากสมัยก่อนที่ต้องอาศัยนอนวัดเป็นหลัก และต้องออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ทำอาหารกันเอง ขนแม่ครัวไปเอง ทำอาหารเช้าและกลางวัน พอพักเที่ยงก็แวะริมทางเพื่อรับประทานอาหารกล่องที่ทำมามือหนึ่งก็ตักอาหารเข้าปาก อีกมือหนึ่งก็คอยปัดแมลงวัน เป็นประสบการณ์ที่เรียกว่าIncredible India! โดยแท้
สมัยนี้แตกต่างสิ้นเชิง เพราะโรงแรมส่วนใหญ่ที่ไปพัก ทำอาหารไทยไว้คอยบริการ ตั้งแต่ ข้าวต้ม ส้มตำ ไข่เจียว ต้มยำ แกงเขียวหวาน ฯลฯ แม้รสชาติไม่ไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อร่อยพอสมควร แถมยังไม่ต้องแพ็กอาหารไปทานระหว่างทาง ความสะอาดก็พัฒนาขึ้นมามากกว่าเดิมหลายเท่าเล่นเอาหลายคนที่เกรงว่าน้ำหนักจะลดเวลาเดินทางมาอินเดีย กลับผิดคาด เพราะคาดเข็มขัดได้ยากขึ้น จากการขยายบริเวณส่วนกลางของร่างกาย!
สำหรับถนนหนทางก็ดีขึ้นกว่าเดิมมากจากที่เคยใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเดินทางเพียง 50-80 กิโลเมตร เนื่องด้วยสภาพผิวถนนที่เปรียบเสมือนหลุมพระจันทร์ ปัจจุบันดีขึ้นมาก มีบางเส้นทางที่เป็นเหมือนเดิม ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์และยังคงอยู่ คือ การขับรถของคนอินเดียที่ใช้แตรเป็นอาวุธสำคัญ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ใครที่ไม่ได้บีบแตรถือว่าผิดกฎหมาย และการขับรถคร่อมทางกันเพื่อเป็นการวัดใจ วัดสมาธิ และความกล้าหาญ เป็นประสบการณ์ผจญภัยที่น่าหวาดเสียวพอสมควร แต่ก็ปลอดภัยพอรับได้ครับ
สนามบินในอินเดียเริ่มมีมากขึ้นและทันสมัยขึ้น ต่างจากสมัยก่อนต้องอาศัยการเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก จึงสะดวกสบายกว่าเดิม และระบบการตรวจคนเข้าเมืองก็พัฒนารวดเร็ว ส่วนที่ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมเห็นจะเป็นขอทานซึ่งยังคงมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เป็นสีสันของชาวภารตที่แสดงให้เห็นว่า อินเดียคือเมืองที่มีน้ำใจ มีผู้ให้จึงมีผู้ขอ คนไทยส่วนใหญ่จะถูกยกระดับให้กลายเป็น”มหาราชา” “มหาราณี” หรือเป็นอาจารย์ก็สุดแล้วแต่จะเรียก
การให้ทานในอินเดียยังเป็นสิ่งที่ต้องระวังเนื่องจากจำนวนผู้ขอมีมากมายหากให้โดยไม่ระวัง อาจมีอันตรายมาถึง “มหาราณี” อย่างไม่ตั้งใจ แต่หากใครไปอินเดียแล้วไม่ถูกขอเลยกลับเมืองไทยต้องรีบพิจารณาโหงวเฮ้งตนเองโดยด่วน เพราะหากขอทานอินเดียไม่แบมือขอแล้วละก็ แสดงว่าความมีสง่าราศีอับเฉามาก
คนอินเดียส่วนใหญ่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวและชอบถ่ายรูปไม่แพ้คนไทย จะสูสีกันก็น่าจะเป็นเรื่องการถ่ายรูปโดยเฉพาะหากเป็นคนรุ่นใหม่ที่มากันเป็นกลุ่มมักจะชอบถ่ายรูปมาก โดยเฉพาะกับสาวไทยที่หน้าตาดี จะเป็นที่ชื่นชอบของหนุ่มอินเดียอย่างมาก

ยังมีอะไรอีกมากมายสำหรับอินเดียดินแดนน่าอัศจรรย์ ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้หลั่งไหลมาเยือน เพราะเป็นที่กำเนิดพระเจ้าและศาสนามากมาย เป็นตะกร้าที่หลอมรวมความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เป็นดินแดนที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้แสวงหาสัจธรรมนำกลับไปและที่สำคัญ เป็นดินแดนที่สัจธรรมสูงสุดแห่งชีวิตได้ถูกค้นพบขึ้นโดยพระพุทธองค์
*** เชิญร่วมบุญต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยโครงการทอดผ้าป่าเพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์โรงพยาบาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นเช่น เตียงผ่าตัด โคมไฟ เครื่องดมยาสลบเครื่องกระตุกหัวใจ วันเสาร์ที่ 30 มี.ค. 2556 เวลา 07.00-12.00 น. ณ โรงพยาบาลกุมภวาปี โดยพระอาจารย์อินทร์ถวาย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย วัดเมตตากิตติคุณ หรือร่วมบุญที่ บัญชี”มูลนิธิธรรมดี เพื่ออุปกรณ์การแพทย์”เลขที่บัญชี 059-284322-3 ออมทรัพย์ ไทยพาณิชย์สาขาเพลินจิต หรือ โทร. 02-610-2366***
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ ชีวิตรื่นรมย์
สนุกค่ะอาจารย์ อ่านไปยิ้มไปขำๆ และยังจินตนาการตามคำบอกเล่าเป็นฉากๆ ก็ยิ่งขำ แต่ได้สาระความรู้เกี่ยวกับอินเดียมากขึ้นค่ะ =D