ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิใน การประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทรงแสดงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ตอนหนึ่ง ความว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา รัฐบาลได้ประกาศให้ วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ซึ่งหลายท่านคงทราบกันแล้ว
ที่อัญเชิญพระราชดำรัสมาแสดงนี้ เพราะมีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนให้ กระทรวงวัฒนธรรม เดินหน้าสานต่อภารกิจในการรักษาภาษาไทยอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง ล่าสุด กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ๑๗ องค์กรภาคีเครือข่าย จัด โครงการรณรงค์ปฏิบัติบูชา “สัมมาวาจา” ชอบพูด ต้องพูดชอบ และมอบโล่เกียรติคุณแก่ ทูตวัฒนธรรมด้านการพูด โดย คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคุณสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ภาษาคือพรสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ หากทุกการกระทำ ทุกคำที่พูด ออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ เราย่อมเป็นที่รักและประสบความสำเร็จด้วยปิยวาจา ทำให้เราเป็น ‘ธรรมทูต’ มิใช่ ‘ยมทูต’
พระพุทธองค์ทรงเป็นต้นแบบด้านการพูด ด้วยพระสุรเสียงที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 8 ประการ คือ แจ่มใส ชัดเจน นุ่มนวล ชวนฟัง กลมกล่อม ไม่พร่า ซึ้ง และกังวาน ทรงมีพระวาจาไพเราะ ตรัสถ้อยคำได้งดงาม สุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง เปรียบเสมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด’
สัมมาวาจา ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ ๑.เป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๒.เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๓.เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๔.เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ และ ๕.เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ทำได้ครบทั้ง ๕ ประการนี้ แสดงว่า ท่าน “พูดชอบ” แล้วครับ
เพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมา พูดชอบ กันมากขึ้น กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้แต่งตั้ง ทูตวัฒนธรรม ด้านสัมมาวาจา ทั้งหมด ๙ ท่าน ได้แก่ ๑.คุณวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ วู้ดดี้: ผู้จัดรายการโทรทัศน์ ๒.คุณแอนดรูว์ บิ๊กส์: ผู้จัดรายการโทรทัศน์ ๓.คุณกนกพรรณ เหตระกูล: นักธุรกิจ ๔.คุณศศินา วิมุตตานนท์: สื่อมวลชน ๕.คุณววีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส: ผู้ประกาศข่าว ๖.คุณสุนิสา สุขบุญสังข์: ศิลปินนักร้อง นักแสดง ๗.คุณพรชิตา ณ สงขลา: ศิลปินนักแสดง/พิธีกร ๘. ผมเอง และ ๙. คนไทยทั้งประเทศ!
ตาท่านไม่ฝาดหรอกครับ ที่เห็นชื่อคุณแอนดรูว์ บิ๊กส์ ฝรั่งหัวใจไทยผู้ได้รับเกียรติครั้งนี้ด้วย เพราะความโดดเด่นด้านการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารจนเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจนะครับ หากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์หวงแหนภาษาไทย อีกหน่อยคนไทยอาจต้องไปเรียนการพูดภาษาไทยกับชาวต่างชาติ จากที่เคยมีฝรั่งมาสอนคนไทยไหว้กันมาแล้ว อย่าทำเป็นเล่นไปเชียว
เคล็ดลับในการพูดชอบนั้นง่ายนิดเดียว คือ “คิดก่อนพูด ไม่ใช่พูดก่อนคิด” และ “คิดทุกคำที่พูด แต่ไม่จำเป็นต้องพูดทุกคำที่คิด” เพียงเท่านี้ คำพูดของเราก็จะไม่เป็นหอกทิ่มแทงหัวใจใคร แต่จะกลายเป็นดอกไม้ที่สร้างความสดใสเบิกบานให้แก่ผู้ฟัง เนื่องด้วยคำพูดนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่งของมนุษย์ สามารถใช้ในการสร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้
ไม่เพียงแค่ทูตวัฒนธรรมที่ได้รับการแต่งตั้ง ๘ คนเท่านั้น แต่หน้าที่การเป็นทูตสัมมาวาจาเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติอีกกว่า ๖๐ ล้านคน ที่ควรช่วยกันสร้างสรรค์และปลูกฝังวัฒนธรรมด้านการพูดแบบปิยวาจาให้กับสังคมไทยตลอดไป
คำที่ควรพูดวันละหลายๆ ครั้ง คือ คำว่า ขอบคุณครับ/ค่ะ ขอโทษครับ/ค่ะ ไม่เป็นไรครับ/ค่ะ เพราะคำดีๆ เหล่านี้เริ่มเลือนหายไปจากปากคนไทยแล้ว มาร่วมเป็นหนึ่งในคนไทยที่ใช้สัมมาวาจา ได้ทางเว็บไซต์ www.bethai.org และ www.facebook.com/poodshob