จะเป็นความบังเอิญหรือไม่ ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองกันตามอัธยาศัย แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้น ความบังเอิญไม่มีในโลก
1. เสด็จสวรรคตในเดือนเดียวกัน และปีปฏิทินตรงกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ซึ่งนอกจากจะเป็นเดือนเดียวกันแล้ว ยังเป็นปีปฏิทินตรงกันกับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453 แม้ว่าระยะเวลาจะห่างกันถึง 106 ปี แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นปีปฏิทินเดียวกัน และยังมีเหตุการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นเหมือนกัน ที่เรียกว่า ‘หมอกธุมเกตุ’ สีขาว
ลอยอ้อยอิ่งปกคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งกลางวันและกลางคืนของวันที่ 13-15 ตุลาคม และปรากฎอีกครั้งในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 ซึ่งตรงกับบรรยากาศในการเคลื่อนพระบรมศพของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 จากพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ที่บรรยายถึงความเศร้าโศกเสียใจของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า และหมอกธุมเกตุสีขาวที่ลงมาปกคลุมทั่วทั้งพระนคร ท่ามกลางเสียงปี่ เสียงกลอง ใบหน้าที่ปราศจากรอยยิ้มและเสียงร่ำไห้
นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะผู้สำเร็จราชการ ทรงได้รับโทรเลขรายงานจากหัวเมืองต่างๆ ทั่วทั้งพระราชอาณาจักรว่า ใน 7 วันหลังจากเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ปรากฏว่าไม่มีรายงานการปล้นจี้ ขโมย หรือคดีความใดทั่วทั้งราชอาณาจักร ตรงกับการรายงานในที่ประชุมกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 9 นั่นหมายความว่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งตำรวจผู้ร้าย ต่างเศร้าโศกเสียใจในการสูญเสียพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง
2. ทรงเป็นยุวกษัตริย์ทั้ง 2 รัชกาล จากการผลัดแผ่นดินอย่างกะทันหัน
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ให้การทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา โดยในขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์วงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพุทธศักราช 2488 รัฐบาลไทยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และพระเชษฐภคินี พระอนุชา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จฯ กลับประเทศไทย นำความปลาบปลื้มปีติชื่นชมโสมนัสให้แก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทว่าความชื่นชมโสมนัสนั้นดำรงอยู่มินาน วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
ในวันเดียวกันนั้น รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะนั้นมีพระชนมพรรษา 18 พรรษา ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา กอปรกับยังทรงพระเยาว์ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่ได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาในวิชาที่จำเป็นต่อการปกครอง
3. ทรงพระผนวชในระหว่างที่ทรงครองสิริราชสมบัติ
พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์นับแต่อดีตกาล ล้วนแต่ทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนาทุกพระองค์ ส่วนใหญ่จะทรงพระผนวชก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระผนวชภายหลัง เนื่องจากเสด็จขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมพรรษายังน้อย จวบจนเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา 15 วัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็เช่นเดียวกัน เพื่อสืบทอดโบราณราชประเพณีเจริญรอยตามสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชและด้วยพระราชศรัทธาส่วนพระองค์ต่อพระบวรพุทธศาสนา จึงเสด็จออกทรงพระผนวชเมื่อพุทธศักราช 2499 ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาจารย์ แล้วเสด็จไปประทับเพื่อปฏิบัติสมณวัตร ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2499 จึงทรงลาพระผนวช รวมเวลาในสมณเพศ 15 วัน เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต
4. ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรปใน พ.ศ. 2440 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวีทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ’ ซึ่งถือว่าทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และของราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยในขณะนั้น
ในการทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพุทธศักราช 2499
ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจในช่วงเวลา 15 วันที่ยังดำรงสมณเพศอยู่และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์เป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2499 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ” นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
5. ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งทรงครองราชย์ถึง 40 ปี นานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ของกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2451 และทรงครองราชย์ต่อมาจนเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 รวมเวลาในรัชสมัยได้ 42 ปี 22 วัน
ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้น ตามพระราชประเพณีเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สำหรับวันประวัติศาสตร์ในปี 2531 นี้ มีสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกก็คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งรองรับผู้เข้าชมในอาคารได้ถึง 80,000 คน และบนอัฒจันทร์ได้อีก 49,722 ที่นั่ง เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่อันดับ 55 ของโลก และอันดับที่ 17 ของเอเชีย และรัฐบาลยังได้สร้างโรงเรียนรัชมังคลาภิเษก เป็นโรงเรียนระดับสามัญศึกษา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันมหามงคลนี้อีกกว่า 30 โรงเรียน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก มากกว่าสถิติเดิมของพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษที่ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1837-1901 (พ.ศ. 2380-2444) รวมเวลา 63 ปีเศษ
6. เสด็จต่างประเทศและในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายแง่มุมที่ทรงมีความคล้ายกันอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จประพาสต่างประเทศของทั้งสองรัชกาล เพื่อเผยแผ่พระบรมเดชานุภาพให้สยามประเทศเป็นที่เกรงขามและยอมรับในระดับนานาอารยประเทศ และรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และจากการตกเป็นคอมมิวนิสต์และทาสของทุนนิยมตะวันตกในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ธงช้างเผือกจากสยามประเทศเป็นธงชาติจากทวีปเอเชียเพียงชาติเดียวที่ถูกเชิญขึ้นคู่กันกับธงชาติแห่งมหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เช่นเดียวกับในยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นบุคคลเดียวในโลกที่ได้รับการถวายพระเกียรติและยกย่องจากองค์กรระหว่างประเทศถึง 13 รางวัล โดยทรงเป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับรางวัล UNDP Human Development Lifetime Achievement Award จาก UN เมื่อปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เป็นรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ มอบโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme) ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เนื่องจาก UNDP เล็งเห็นถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์
การเสด็จประพาสในประเทศ หรือที่คุ้นเคยกันว่าเป็นการเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 แม้ถนนหนทางจะยังไม่มีเฉกเช่นปัจจุบัน แต่พระองค์ได้เสด็จไปถึง 40 กว่าจังหวัด และในสมัยรัชกาลที่ 9 มีการคำนวณว่าระยะทางที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรนั้นมีระยะทางเท่ากับโลกไปถึงดวงจันทร์และดวงจันทร์กลับมายังโลก ดังคำพูดภาษาฝรั่งว่า I love you to the moon
7. บทพระราชนิพนธ์ และ 8 ทรงเป็นมหาราชผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีบทพระราชนิพนธ์มากมาย และพระราชดำรัสที่ทรงเน้นเรื่องของ การรู้รักสามัคคี
ของคนในชาติ และประการที่สำคัญที่สุด คือทั้งสองรัชกาลทรงเป็นได้รับการถวายพระราชสมัญญาให้เป็นมหาราชผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยและคนทั้งโลก
ช่องทางติดตาม Danai Chanchaochai
Facebook: https://web.facebook.com/danai.chanchaochai
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCi2G57nvN5mpyXgap8RIOqg
Twitter: https://twitter.com/dc_danai
Instagram: https://www.instagram.com/dcdanai
Blog: https://dc-danai.com/