เที่ยวหนึ่งวัน บนนาบัว สวนส้มโอ คลองมหาสวัสดิ์ ณ ชุมชนบ้านศาลาดิน
บ้านศาลาดิน..มากี่ครั้งก็ยังได้เรียนรู้..
ที่พูดแบบนี้ความจริงการมาชุมชนบ้านศาลาดินไม่ใช่การมาครั้งแรกของผม แต่ทุกครั้งที่ได้มาหัวใจของผมมันชุ่มชื่นไม่น้อย ผมรู้สึกสุขใจทุกครั้งที่ได้กลับมาเดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ในชุมชนแห่งนี้ ชุมชนที่ครั้งหนึ่งพระองค์ได้พระราชทานศาสตร์ต่าง ๆ ไว้มากมาย จนชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตและพึ่งพาตนเอง จนมีอยู่มีกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงชาวบ้านยังได้พัฒนาชุมชนบ้านศาลาดินให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุง ให้ผู้คนได้มาเซลฟี่ เช็คอิน มาเรียนรู้วิถีชีวิตและธรรมชาติแบบไม่ขาดสาย..
ป้าแจ๋ว ป้าติ๋ว พี่วันชัย แห่งบ้านศาลาดินกลายเป็นคนคุ้นเคยสำหรับผม ถ้าเปรียบวิถีชุมชนแห่งนี้เหมือนละครเรื่องหนึ่ง บทบาทของพี่วันชัยก็คือตัวต้นเรื่อง แกเล่าถึงวิถีชุมชนคนมหาสวัสดิ์ หรือที่เราเรียกว่าบ้านศาลาดิน แห่งนี้ว่า บ้านศาลาดินเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของคลองมหาสวัสดิ์ คลองสายประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าให้ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2400 เพื่อใช้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และเชื่อมโยงการคมนาคมภาคตะวันตกทั้งหมดโดยการขุดคลอง 4 คลอง ได้แก่ คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ และคลองดำเนินสะดวก ซึ่งประชาชนสามารถใช้คลอง 4 สายนี้เป็นเส้นทางในการเดินทางไปจังหวัดกาญจบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงครามได้ เมื่อขุดเสร็จทรงให้สร้างศาลาริมคลองเพื่อสาธารณประโยชน์ทุกระยะ 4 กิโลเมตร ได้แก่ ศาลายา ศาลาทำศพ หรือ ศาลาธรรมสพน์ นปัจจุบัน และสุดท้ายคือ ศาลาดิน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อันเป็นจุดกำเนิดของชุมชนบ้านศาลาดินในปัจจุบัน อีกทั้งคลองมหาสวัสดิ์ยังเป็นเป็นพื้นที่ที่เชื้อสายของรัชกาลที่ 4 อาศัยอยู่ถึง 47 แปลง 47 พระองค์ อาทิ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ กรมหมื่นสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา และอีกหลายพระองค์
สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ เดิมทีชาวบ้านมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้ง เป็นเหตุให้มีฐานะยากจน ต้องขายที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 1,009 ไร่ในปี พ.ศ. 2518 โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแล และจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรแปลงละ 20 ไร่ ให้เกษตรกรเข้าทำกินและได้รับโฉนดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 พร้อมกับพระราชทานแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน ส่งผลให้คนในชุมชนบ้านศาลาดินมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันบ้านศาลาดินกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติด้านการจัดการน้ำในชุมชนตามแนวพ ระราชดำริ
วันนี้ผมมีโอกาสพาเยาวชน 25 คนจากมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศมาเรียนรู้ศาสตร์พระราชาบ้านศาลาดินแห่งนี้ ในฐานะกรรมการของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ภายใต้โครงการ “เอไอเอส ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ณ บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม” ซึ่งครั้งนี้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องของการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ และความพอเพียง และกิจกรรมครั้งนี้ได้พิสูจน์ว่า การเรียนรู้จากของจริงยังเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ควรได้รับ
จากศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านศาลาดินที่เป็นจุดแรกของผู้มาเยือน ผมพาเด็ก ๆ และคณะนั่งเรือหางยาวล่องไปตามคลองมหาสวัสดิ์เพื่อเยี่ยมชมนาบัว วันนี้อากาศดีมาก ๆ ครับ ระหว่างล่องเรืออากาศไม่ร้อนและมีลมเย็นประทะหน้าเบา ๆ ให้ชื่นใจ และที่นี่ เด็ก ๆ ได้พบกับ “ป้าติ๋ว” ที่ผมพูดถึง ป้าติ๋วคือเจ้าของนาบัวผืนใหญ่ ภายใต้ชื่อว่า “นาบัวลุงแจ่ม” ซึ่งลุงแจ่มคือพ่อของป้าติ๋ว นั่นเอง
นาบัวแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกบัวสัตตบงกชสีชมพู บางโซนป้าติ๋วปลูกเป็นบัวสายหลายหลากสี ตามคันดินป้าติ๋วยังปลูกกะเพราไว้เก็บกินและเก็บขายด้วย ที่นี่เด็ก ๆ ตื่นเต้นกับความสวยงามของนาบัวกันใหญ่ เด็กบางคนไม่เคยเห็นนาบัว ไม่เคยรู้มาก่อนว่าประโยชน์ของบัวมีตั้งแต่ราก ดอก ใบไปถึงเกสร อาทิ ดอกใช้บูชาพระ เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนต่าง ๆ ของบัว เช่น ราก ฝัก กลีบดอกยังใช้เป็นอาหาร มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ ด้วย ส่วนบัวสาย ก้านดอกและไหลใช้รับประทานได้ หัว ดอก เมล็ด ต่างมีสรรพคุณเป็นยาใช้บำรุงร่างกายไม่แพ้กัน
ที่นี่..เด็กบางคนมีโอกาสได้เรียนรู้กับพับดอกบัวเป็นครั้งแรก ได้พายเรือเก็บบัวเป็นครั้งแรกได้ดื่มน้ำเกสรบัวเป็นครั้งแรก ซึ่งน้ำเกสรบัวช่วยบำรุงสายตา ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงหัวใจ ปอด ตับลดน้ำตาลในเลือดและทำให้นอนหลับสบาย นอกจากนั้นเด็ก ๆ ยังได้กินเมี่ยงกลีบบัวเป็นครั้งแรกโดยไม่เคยรู้ว่ากลีบดอกบัวนั้นกินได้ สำคัญที่สุดคือ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แนวพระราชดำริการทำเกษตรแบบผสมผสานจากป้าติ๋วเป็นครั้งแรก และเรื่องที่ทำให้เด็ก ๆ ว้าวที่สุดก็คือ ใครเลยจะคิดว่า ดอกบัวที่มีราคาดอกละ 4 บาทที่ป้าติ๋วเก็บขายในแต่ละวันนั้น จะทำให้ป้าติ๋วมีชีวิตที่มีอยู่มีกินมาตลอด ป้าติ๋วสามารถซื้อรถยนต์คันละ 2-3 ล้านได้ด้วยเงินสด หรืออยากซื้ออะไรก็ใช้เงินสดซื้อ นั่นหมายถึงป้าติ๋วไม่ต้องเสียดอกเบี้ยไปโดยเปล่าประโยชน์ เรียกว่าเป็นการบริหารเงินแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้
จบกิจกรรมการเรียนรู้จากป้าติ๋ว ผมและเด็ก ๆ ยังร่วมกันน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการสดมนต์และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมนำผลงานการพับดอกบัวของตัวเอง ถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย
จากนาบัว ผมพาเด็ก ๆ ลงเรือต่อไปยังสวนผลไม้และนาข้าวของป้าแจ๋ว ป้าแจ๋วทำไร่นาสวนผสมมากว่า 20 ปี ป้าแจ๋วเล่าว่า ที่ดินผืนนี้ทำมาตั้งแต่ครั้งรุ่นพ่อแม่ พ่อแม่ได้ดูโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านทีวี จึงได้เริ่มทำไร่นาสวนผสมมาตั้งแต่นั้น ทุกวันนี้ บนพื้นที่ 80 ไร่ของป้าแจ๋ว ประกอบไปด้วยนาข้าวและสวนผลไม้ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกผลให้กินทั้งปี เช่น กล้วย มะม่วง ส้มโอ กระท้อน ขนุน ฝรั่ง มะนาว และอื่น ๆ อีกมากมาย
ป้าแจ๋วตอนรับผมและคณะด้วยผลไม้ตามฤดูกาล และผลไม้ที่ถูกแปรรูปไว้กินนอกฤดูกาล เช่น มะม่วงสามรส อีกทั้งป้าแจ๋วยังสอนพวกเราทำ “ข้าวตู” ข้าวตูเป็นขนมที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน เป็นการนำวัตถุที่เหลือใช้มาแปรรูปเป็นขนม ซึ่งวิธีการทำข้าวตูของป้าแจ๋วก็คือ นำข้าวสารไปคั่วให้เหลืองหอม แล้วนำข้าวตูมาโม่ให้ละเอียดจนได้เป็นข้าวคั่ว จากนั้นนำน้ำตาลมะพร้าวมาเคี่ยวกับกะทิให้หอม นำมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวแก่ที่ขูดละเอียดลงมาเคี่ยว ใส่ข้าวคั่ว กวนไปกวนมาจนงวด จากนั้นค่อยตักข้าวตูใส่แม่พิมพ์ และแกะแม่พิมพ์ออกมาเรียงให้สวยงาม เท่านี้ก็จะได้ข้าวตูแสนอร่อยเก็บไว้กินแล้ว
อีกหนึ่งกิจกรรมที่คือว่าเป็นไฮไลท์ของการเยี่ยมชมสวนป้าแจ๋วคือการนั่งรถไถ หรือ รถอีแต๋นชมสวน แต่การนั่งรถอีแต๋นที่นี่ไม่ธรรมดาครับ ไม่ใช่แค่กายพร้อมแต่ใจต้องพร้อมด้วย เพราะคุณลุงสมบุญ พี่เขยของป้าแจ๋วขับรถได้สนุกมากแต่ก็หวาดเสียวมากด้วย โดยเฉพาะจุดกลับรถจะมีจังหวะที่คุณลุงกระโดดลงไปข้างล่าง ทำเอาเด็ก ๆ กรี๊ดกันลั่นนึกว่ารถจะต้องลงไปนอนแอ้งแม้งในท้องนาเสียแล้ว คุณลุงอายุจะ 70 ปีแล้ว แต่ในเรื่องความแข็งแรงและความชำนาญในการขับรถ บอกได้คำเดียวว่าคนหนุ่ม ๆ ยังต้องอายครับ การนั่งรถอีแต๋นจะนั่งได้รอบละ 10 คน จากบ้านป้าแจ๋วคุณลุงจะพาเราวิ่งเลาะเข้าไปในสวนและแปลงนา ฝั่งขวาเป็นต้นส้มโอ ซึ่งนั่งไปต้องระวังหัวไปด้วยนะครับ เพราะส้มโอบ้านป้าแจ๋วกำลังออกลูกดกเต็มต้น ด้วยความเร็วของรถอีแต๋นใครหลบไม่ดีมีหวังหัวโนได้ การนั่งรถชมสวนใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อรอบ ภายในพื้นที่สวนของป้าแจ๋วประกอบไปด้วยผลไม้หลากหลาย ดูแล้วเพลินตาเพลินใจมากมายครับ ซึ่งป้าแจ๋วบอกว่าประโยชน์ของการทำสวนผสมก็คือ ทำให้มีพืชผักผลไม้กินตลอดทั้งปี ที่สำคัญที่สุดคือได้กินผักผลไม้ที่ปลอดภัยไร้สารพิษเพราะปลูกและดูแลเองโดยไม่ใช้สารเคมี
จากสวนป้าแจ๋ว เราไปทำกิจกรรมถอดรหัสนวัตกรรมกันต่อที่โรงแรม เดอะ ศาลายา โดยเริ่มจากบรรยายสรุปภาพรวมกิจกรรมครั้งนี้โดยผม บรรยายพิเศษจากน้องพริม ด.ย.พริมา ธัญญาอนันต์ผล ผู้ซึ่งวาดภาพปกหนังสือ 9 ตามรอยพระราชา โครงการตามรอยพระราชา การสอนทำคลิปวิดีโอแบบง่ายและรวดเร็วจากน้องบิ๊ก ณภัทร ตั้งสง่า อดีตเยาวชนจากโครงการ D Ambassador โครงการที่ผมเคยทำให้กับ สสส. ซึ่งวันนี้น้องบิ๊กกลายเป็นผู้กำกับหนังสั้นระดับเอเชียไปแล้ว พร้อมร่วมทำกิจกรรมถอดบทเรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจาก อ.อดุลย์ ดาราธร นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องเรียกว่าเด็ก ๆ ได้ความรู้เรื่องการบริหารเงินแบบเศรษฐกิจพอเพียงไปเต็ม ๆ เลยครับ
ทริปหน้าผมจะพาครูอาจารย์จากทั่วประเทศไปตามรอยพระราชาที่ อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กันต่อ แล้วผมจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ
………………………………….