เที่ยวขะแมร์ แลชวา : คอลัมน์ ศิลาในน้ำเชี่ยว โดย… ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ผมนั่งอยู่ในโรงแรมที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตรงข้ามสถานทูตสหรัฐ โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์ประท้วงเหมือนประเทศอื่นๆ ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ทั่วโลก สาเหตุที่จั่วหัวว่า ขะแมร์ เพราะประทับใจที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังมีคำว่า Khmer อ่านว่า ขะแมร์ หรือเขมร อยู่ทั่วไปในกรุงพนมเปญ และเมื่อถามว่าเขาพูดภาษาอะไร ก็จะตอบอย่างภาคภูมิใจว่า พูดขะแมร์ และภาษาอังกฤษ
ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินสายบรรยายทั่วประเทศ แทบไม่เคยเว้นทั้งเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉพาะช่วงหลัง เริ่มตอบรับคำเชิญจากต่างประเทศให้ไปบรรยาย ตั้งแต่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ไปจาการ์ตา อินโดนีเซีย ตามคำเชิญขององค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งอินโดนีเซีย ในหัวข้อ “กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ทางเลือกสำหรับการใช้ชีวิตและการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืน” ต่อด้วยการบรรยาย “หัวใจสีขาว” ให้เยาวชนชาวอินโดฯ ต่อจากนั้น บินมาที่กรุงพนมเปญ แนะนำหนังสือเล่มเดียวกัน White Ocean Strategy ฉบับภาษาอังกฤษ และเปิดสำนักงานประชาสัมพันธ์และการตลาดในเมืองหลวงของกัมพูชา
ความประทับใจในการเยือนอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก สองร้อยกว่าล้านคน และมีชาวพุทธเป็นส่วนน้อยไม่ถึงร้อยละ 0.8 แต่ชาวพุทธอินโดนีเซีย มีความเข้มแข็งน่าชื่นชม เป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ใช้ชื่อกลุ่มว่า Buddhist Reborn คือ ชาวพุทธเกิดใหม่ มีความสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรมกันอย่างมาก วันที่ผมไปบรรยายหัวใจสีขาวในวันอาทิตย์ ปรากฏว่ามากันแน่นวัด แยกศาลาผู้ใหญ่ ศาลาวัยรุ่นเยาวชน และศาลาเด็กเล็ก จัดกิจกรรมต่างกัน แต่ทำพร้อมๆ กันไป
พอเขาถามว่า คนไทยที่เป็นพุทธไปวัดทุกวันอาทิตย์หรือไม่ ผมตอบอย่างไม่ลังเล แต่ละอายใจนิดๆ ว่า “ไม่” ชาวอินโดฯ กลับรู้สึกอิจฉาคนไทยที่มีวัดมากมาย มีพระสงฆ์สุปฏิปันโนหลายรูปที่ถ่ายทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ต่างจากพวกเขาที่อยู่ห่างไกลมาก ต้องเสาะแสวงหาและใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด เขาจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคนไทยไม่เข้าวัดทุกวันอาทิตย์
ก่อนการบรรยายและจบการบรรยายทุกครั้ง ชาวพุทธอินโดฯ จะสวดมนต์ตามแนวเถรวาท และพนมมือไหว้ทักทายกันด้วยคำว่า “นะโมพุทธายะ” ผมได้ฟังแล้วรู้สึกขนลุกซู่ พุทธศาสนาในอินโดนีเซียมี รากฐานสำคัญจากวัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยพระเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน เป็นแนวธรรมยุตที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และเป็นที่ศรัทธาสำหรับชาวพุทธที่นี่อย่างมาก
จากกรุงจาการ์ตา ผมมีโอกาสนั่งเครื่องบินออกไปหนึ่งชั่วโมงเพื่อไปเยี่ยมบุโรพุทโธ พุทธสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา มีอายุพันกว่าปี สร้างอยู่บนเนินย่อมๆ มีรูปทรงคล้ายระฆังคว่ำ และแฝงด้วยพุทธปรัชญาที่ลึกซึ้ง โดยมีมัคคุเทศน์ชาวคริสต์ที่สามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างแตกฉาน ไกด์คนนี้เล่าว่า คนอินโดฯ ถือว่าบุโรพุทโธคือสมบัติสำคัญของประเทศ จึงช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม หรือคริสต์ก็ช่วยกัน สองปีก่อนเกิดภูเขาไฟระเบิด เถ้าภูเขาไฟปกคลุมบุโรพุทโธจนมิด ทุกคนระดมสรรพกำลังมาทำความสะอาดให้กลับมาเหมือนเดิมโดยไม่มีการแบ่งแยก
เห็นคนต่างศาสนาแต่มีศรัทธาเดียวกัน ช่วยเหลือกันอย่างนี้ ก็นึกถึงคนไทย ศาสนาเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกัน ควรจะรัก สามัคคี และช่วยกันดูแลประเทศชาติให้ได้เหมือนเขา
ต่อจากชวาบินมาเขมร รู้สึกคุ้นเคย เพราะประเทศติดกัน มีวัฒนธรรมร่วมกันค่อนข้างมาก วัดของเขา ก็เรียกว่า วัดเหมือนกัน แถมมีวัดแก้ว มีพระบรมมหาราชวัง มีพิธีคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน พิธีแรกนาขวัญ คงยืมกันไปยืมกันมา ทั้งจากวัฒนธรรมขอม ฮินดู พุทธ ผสมผสานปนเปกัน
ที่สนุกสนานเห็นจะเป็นการนั่งรถตุ๊กตุ๊กที่พนมเปญ เพราะที่นี่มีสี่แยกเยอะมาก และไม่มีไฟแดงทุกจุด รถวิ่งเลนขวา ไม่ใช่เลนซ้ายเหมือนบ้านเรา เวลาเข้าสี่แยกเห็นรถทุกชนิดจากทุกทิศทางวิ่งเข้ามาหากัน เป็นการวัดใจได้อย่างดีว่าใครจะแน่กว่ากัน! เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานตื่นเต้นดีครับ
การจราจรทั้งจาการ์าและพนมเปญก็พอๆ กับในกรุงเทพฯ คือ รถติดมาก ของเรายังโชคดีกว่า คือ มีระบบรถไฟฟ้าให้เป็นทางเลือกในเส้นทางหลัก แต่ของเขาไม่มี เวลาอยู่ในรถก็ต้องรอไปเรื่อยๆ แต่ที่ของเราคงแย่กว่าแน่ๆ คือ น้ำท่วมหลังฝนตก ทำให้รถยิ่งติดหนัก ในกรุงพนมเปญเขา สร้างคันดินเป็นถนนกั้นแม่น้ำกลางกรุง เพื่อกันน้ำท่วม แถมยังเป็นทัศนียภาพสวยงาม และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้คนมาเดินเล่น ออกกำลังกาย
มีเรื่องราวอีกมากมายที่อยากถ่ายทอดให้ฟัง แต่พื้นที่หมดเสียก่อน เชิญติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก Danai Chanchaochai ตอนนี้ผมโพสต์สองภาษา เพื่อเอาใจแฟนคลับต่างประเทศด้วย สำหรับพวกเราก็ถือว่าเป็นการฝึกฟุดฟิดฟอไฟ ก่อนเข้าสู่เออีซีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และเชิญชวนทุกท่านมาร่วมฟังเสวนาวิชาการ White Ocean Strategy โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้เกียรติบินมาจากจาการ์ตาเพื่อเป็นองค์ปาฐก พร้อมกับสุดยอดผู้บริหารชั้นนำของประเทศ ในวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม นี้ เวลา 14.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมศศินทร์ฮอลล์ อาคารศศปาฐศาลา ชั้น 9 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีค่าใช้จ่าย โทรศัพท์ สนพ.ดีเอ็มจี 0-2685-2255
…………………………………
(หมายเหตุ เที่ยวขะแมร์ แลชวา : คอลัมน์ ศิลาในน้ำเชี่ยว โดย… ดนัย จันทร์เจ้าฉาย)
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20120924/140690เที่ยวขะแมร์แลชวา.html