ผลพวงจากอุทกภัยที่ประชาชนไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุขึ้น กินเวลาลากยาวกว่า 3 เดือน แถมกินพื้นที่ครอบคลุมหลายจังหวัด ตั้งแต่พื้นที่ภาคกลางขยายมาถึงพื้นที่รอบนอกของกทม. และทะลักมาถึงพื้นที่ชั้นในสร้างความเสียหายทางทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนชาวไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเป็นวงเงินมหาศาล แต่ที่ถือว่าเสียหายเป็นมูลค่าทางใจที่มิอาจประเมินออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนออกมาได้ก็คือ ความทุกข์ ความเศร้า ความสูญเสียกำลังใจ หมดกำลังใจ ความหดหู่สิ้นหวังที่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับชีวิตต่อไปข้างหน้าดี ทั้งหมดทั้งปวง ที่กล่าวมาอาจจะมีผลน้อยกว่านี้ หากทางผู้บริหารประเทศหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการ สามารถสื่อสารให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบและเข้าใจ ที่มาที่ไปและควรทำอย่างไร หากเกิดอุทกภัยที่จะมาถึงตัวในอีกไม่กี่วัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องไปดูที่กระบวนการสื่อสารของทาง ศปภ. ที่มีหน้าที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริง ว่าทำกันอย่างไร เช่น เมื่อมีศปภ.เกิดขึ้น เป็นคณะทำงานแล้ว ได้มีการ 1. ระบุขอบเขตของภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริง อะไรคือสถานการณ์ที่กำลังวิกฤต และสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ใด กำลังจะไปที่ใดต่อ และทางทีมงานได้มีการกระทำสิ่งใดไปแล้วบ้างในเบื้องต้น เมื่อได้ข้อมูลสถานการณ์แล้ว ทางศปภ.เอง 2. ก็ต้องมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งตามรูปการก็มีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย หน่วยงานจากกรมชลประทาน
เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็ต้องมีการเตรียมทีม 3. ทีมที่จะรับผิดชอบการบริหารวิกฤต เช่น 3.1 ทีมสื่อมวลชนสัมพันธ์ ก็ต้องไปดูแลเรื่องสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากต้องการควบคุมประเด็นในการสื่อสาร จัดเตรียมรายชื่อสื่อมวลชน มอนิเตอร์ข่าวสาร และเตรียมคำถาม คำตอบ ให้ผู้ที่จะเป็น spokesperson หน่วยงาน เพื่อส่งสารไปยังประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งควรจะมีการซักซ้อม ทำความเข้าใจว่าประเด็นที่นายกรัฐมนตรี หรือ ผู้แทนศปภ. จะพูดนั้น ชัดเจน ได้ใจความ ไม่ใช่หยิบกระดาษที่มีทีมร่าง speech ไว้แล้วมายืนอ่านแบบสดๆ ไม่ได้เตรียมตัวซักซ้อมทำความเข้าใจมาก่อน ชาวบ้านฟังแล้วก็งง ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าผู้บริหารศปภ. พูดอะไรไม่รู้เรื่อง น้ำจะมามั๊ย ท่วมหรือไม่ คำตอบก็ไม่กล้าฟันธง ยึกยักไปมา ชาวบ้านก็ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ได้แต่ยกของ เก็บขึ้นขั้นสองไปอย่างหงอยๆ และกังวลใจ เพราะฉะนั้น ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ก็หันไปพึ่งรายงานข่าว จากสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ต่างๆที่ออกพื้นที่กันแทน
ส่วนการเตรียมทีมบริหารวิกฤต ไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสาร ยังมี 3.2 ทางด้านการบริหารจัดการ การเตรียมสถานที่อพยพ การประสานงานความช่วยเหลือจากหน่วยงานตำรวจ ทหาร อพปร. ระบบการขนส่ง การเตรียมอาหารและน้ำดื่ม การขนส่งประชาชนไปยังจุดต่างๆ ในช่วงแรกๆ น่าจะขลุกขลัก แต่ถ้าเรื่องเหล่านี้มีการจัดเตรียมไว้ และแจ้งไปยังประชาชนทั่วประเทศ ผ่านสื่อทั้งหมด ประชาชนก็จะได้รับทราบทั่วหน้ากันและลดความกังวลไปได้บ้าง
4. ที่สำคัญเวลามีเหตุเกิดก็ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ ว่าจะสื่อสารอย่างไร ประเด็นไหน เมื่อไร การแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างตรงไปตรงมา ดูทำร้ายจิตใจแต่มันอาจเป็นความจำเป็นหรือเปล่า ที่บอกไปเลยว่าปีนี้มวลน้ำมากมหาศาล พื้นที่ของท่านได้รับผลกระทบแน่นอน ท่านควรปฏิบัติตัวดังขั้นตอนตามต่อไปนี้ แบบนี้อาจจะดีกว่าที่น้ำ จะมา ไม่มา ไม่รู้ ไม่ได้เตรียมทั้งข้าวปลาอาหาร กระสอบทราย เพราะรอลุ้นกันอยู่ ในการแก้วิกฤต นอกจากจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการให้ข่าวแล้ว วิธีการใดมีข้อดี ข้อเสียอะไร ก็ต้องมีการวิเคราะห์กันด้วย กรณีใดควรระมัดระวังเป็นพิเศษหรือข้อมูลใดควรเป็นความลับ เมื่อมีกลยุทธ์แล้ว ก็ต้องมากำหนด
5.ใจความสำคัญ กำหนดแผน จะแผนสั้น แผนยาว และระยะเวลาทำงาน อันนี้สำคัญเพราะจะเป็นทิศทางให้คณะทำงานได้ตรวจสอบและประเมินแผนงานกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง หรือเมื่อประเมินแล้วไม่ได้ผลดีก็ต้องปรับเปลี่ยนแผนกันในทันที
6. การกำหนดประเด็นสำคัญสำหรับการให้สัมภาณ์สื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้บริหารประเทศหรือผู้มีหน้าที่ให้ข่าวสารแก่สื่อ ทุกครั้งที่จะให้สัมภาษณ์สื่อผ่านไมค์ หรือออกกล้องโทรทัศน์ของสื่อ ประเด็นที่จะพูด จะต้องเป็นข้อความเชิงบวก ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ ผอ.ศปภ. บอกน้ำไม่ท่วม แต่ผู้บริหารบ้านเมืองอีกท่านบอกว่าท่วม และประชาชนทั้งประเทศควรจะเชื่อใครกัน ถือเป็นความสับสนด้านข้อมูลข่าวสารยิ่งนัก เมื่อมีการเตรียมประเด็นแล้ว ทีนี้ใครล่ะจะเป็นผู้พูด
7. กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้แถลงข่าว ถ้าเป็นวิกฤตระดับประเทศ ที่ไม่ใช่บริษัท โรงงานทั่วๆไป ผู้ที่จะต้องให้ข้อมูลสื่อคือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งของคณะทำงานแก้วิกฤต มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ หรือไปเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลกับสื่อ ในกรณีของ ศปภ.จะเห็นว่าได้มีการเปลี่ยนตัวโฆษก ไปแล้วถึง 3 คน จะด้วยพูดแล้วชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง หรือเจ้าตัวพูดเอง งงเอง หรือบุคลิกผู้พูดขาดความน่าเชื่อถือ อันนี้ก็ต้องมีการพัฒนาในครั้งหน้า (หากมีเหตุเกิด) การสื่อสารยามหน้าสิ่วหน้าขวาน
สิ่งที่โฆษกควรตระหนักไว้ก็คือ 8. การใช้คำพูด จะพูดอะไรต้องเตรียมข้อมูลที่เป็น fact เสมอ พูดด้วยความนอบน้อม เห็นอกเห็นใจผู้สูญเสีย เชื่อมโยงการทำงานแต่ละหน่วยในการแก้วิกฤติให้สัมพันธ์กัน อย่าให้เป็นแบบฝั่ง กทม.พื้นที่ชั้น ชั้นดูแลสุดลิ่ม ฝั่งรอบนอก สส. คนละพรรคเป็นเจ้าของพื้นที่ ชั้นไม่เกี่ยว ทำแบบนี้ชาวบ้านจับได้รู้ทัน มันเจ็บใจประชาชนที่อุตสาห์ไปเลือกตั้ง ไม่ควรตอบคำถามที่เป็นข่าวโคมลอย คำเสียดสี ยั่วยุหรือข้อมูลที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง กล่าวว่าจะติดต่อกลับไปทันทีที่มีข้อมูลเพิ่มและ ทำตามนั้น ไม่ใช้คำที่ทำให้เข้าใจยากเพราะอย่าลืมว่าท่านต้องสื่อกับคนทั้งประเทศ อย่าโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น ยุติการสัมภาษณ์ก่อนเวลาจะยืดเยื้อ เพื่อเลี่ยงปัญหาอื่นที่อาจตามมา ควรกล่าวขอบคุณสื่อที่รุมล้อมหลายสิบฉบับเมื่อจบการให้สัมภาษณ์อย่างสุภาพด้วยความประทับใจ ไม่ใช่ลาจากกันอย่างหัวเสีย
ครั้งนี้ถือว่าศปภ.ได้ถูกจัดตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาอย่างเร่งด่วน อาจจะมีบ้างที่ไม่ทันได้ระมัดระวัง แต่หลังจากนี้ ท่านผู้บริหารประเทศ ท่านโฆษกรัฐบาลหรือท่านที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ให้ข้อมูลกับสื่อ ท่านมีเวลาเตรียมตัวฝึกปรือการให้ข้อมูลข่าวสารแก่สื่อมวลชนในภาวะวิกฤต และสามารถซักซ้อมได้ อีกหลายรอบเพื่อความมั่นใจ ซึ่งเมื่อถึงยามภัยมา ท่านจะมีความมั่นใจมากขึ้น ทำได้ดีมากขึ้น ประชาชนก็จะสบายใจ คลายกังวลกับท่านๆทั้งหลายมากขึ้น ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ