เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่าผมเคยโกรธบ้างไหม โดยเฉลี่ย 1 ปีผมจะโกรธจริงๆ และแสดงออกไม่เกิน 5 ครั้ง แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืม ซึ่งทำให้ผมโกรธจนเกือบ “หลุด” ไปซะแล้ว
สติมา…ปัญญาเกิด
เรื่อง ดนัย จันทร์เจ้าฉาย / เรียบเรียง ณัฐนภ ตระกลธนภาศ / ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
เคยมีคนมาตั้งข้อสังเกตว่าผมเคยโกรธบ้างไหม โดยเฉลี่ย 1 ปี ผมจะโกรธจริงๆ และแสดงออกไม่เกิน 5 ครั้ง แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืม ซึ่งทำให้ผมโกรธจนเกือบ “หลุด” ไปซะแล้ว
สิบปีที่แล้วผมเห็นรถของตัวเองโดนกรีดยางจนแบนแต๋ทั้งสองล้อเพราะไปจอดรถทับที่ของคนอื่น ด้วยความที่เราเป็นคนรักรถจึงโกรธมาก…หากเป็นตัวผมเมื่อก่อนที่ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมเจริญสติมาก่อนคงโวยวายและคิดหาวิธีการเอาคืน
ผมพยายามปลอบใจตัวเองและห้ามความโกรธนั้น แต่ความโกรธไม่ยอมจากไปง่ายๆ ระดับความโกรธยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ..แต่เพียงไม่เกิน 2 นาที สติก็เข้าไปจัดการโทสะด้วยการเห็นอารมณ์โกรธนั้นวิ่งขึ้นมากลางหน้าอก ไม่นานความโกรธที่มีก็หายวับไป..กลายเป็นความเห็นอกเห็นใจขึ้นมาแทนที่
น่าแปลก..ที่อยู่ดีๆ ผมเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ควรจัดการกับเหตุการณ์นี้อย่างไร ผมฝากให้เลขาฯหาชื่อเจ้าของที่จอดรถตรงนั้นโดยบอกด้วยว่า “หาเจอเมื่อไหร่ รบกวนช่วยหาดอกไม้ให้ผมด้วย ผมจะไปขอโทษเขา”
ผมมาทราบทีหลังว่าคนที่กรีดรถผมเป็นคนเยอรมัน เจ้าของบริษัทท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ และทำงานอยู่ในตึกเดียวกับผม ด้วยความที่เยอรมันเป็นชาติที่มีระเบียบวินัยสูง เขาจึงใช้วิธีการกรีดยางเพื่อเป็นการสั่งสอนคนไทยให้รู้จักมีวินัย ไม่จอดรถทับที่เขาอีก
พอคนในบริษัทรู้ว่าผมโดนแบบนี้ ทุกคนโกรธแทนผมทันทีพร้อมกับช่วยกันหาวิธีการเอาคืนให้ ยามของบริษัทถึงกับบอกว่า จะเอาไม้ไปทุบรถคันนั้นให้บุบ ผมรีบห้ามไว้ก่อนจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต
ผมเอาดอกไม้ไปให้เขาเพื่อขอโทษด้วยตัวเอง แต่เขาไม่ออกมาพบกลับส่งผู้จัดการฝ่ายมาหาผมแทน ผมจึงฝากข้อความให้ไปบอกเจ้านายเขาว่า “เราอยู่ตึกเดียวกันน่าจะคุยกันได้” และอธิบายให้ฟังว่า สาเหตุที่ทำให้ผมต้องไปจอดรถในที่ของเขาก็เพราะผมต้องรีบไปงานศพ เมื่อคุยกันเรียบร้อย ผมก็ขอตัวกลับมาเคลียร์งาน
ช่วงเที่ยงวันนั้นทั้งออฟฟิศกรี๊ดกร๊าดกันเกรียวกราว เพราะฝรั่งชาวเยอรมันคนนั้นส่งตะกร้าผลไม้ขนาดใหญ่มาให้พร้อมแชมเปญรวมแล้วราคาคงประมาณ 10,000 บาท พร้อมแนบจดหมายแสดงความสำนึกผิดมาด้วย
เขาบอกว่าผมทำให้เขามองเห็นว่าทุกคนต่างก็มีเหตุผลในการกระทำของตัวเองทั้งนั้น และเขาสัญญาว่าจะไม่ทำแบบนี้กับใครอีก..ในย่อหน้าสุดท้ายของจดหมายเขาเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเขาในฐานะที่เราเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ชั้นนำของไทย เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าหากเรามีสติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดตามมาจะดีเอง
Secret Box
เคล็ดลับการเจริญสติอย่างง่ายๆ คือ ทำสิ่งที่เราไม่เคยทำ โดยต้องกล้าเดินออกมาจาก Comfort Zone หรือการทำตามความเคยชิน เช่น ลองสลับไปใช้มืออีกข้างหนึ่งเวลาแปรงสีฟัน หรือไม่ใช้นิ้วมือที่ใช้เป็นประจำเวลากดลิฟต์หรือรับโทรศัพท์..การไม่ทำอะไรซ้ำซากจะทำให้เราเจริญสติได้ง่ายขึ้น เมื่อทำแล้วจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต และจะสนุกไปกับการปฏิบัติธรรม “ที่นี่เดี๋ยวนี้” โดยไม่จำเป็นต้องเข้าวัดเลย
ที่มา : นิตยสาร Secret Magazine หน้า 91 (New Colum) วันที่ 26 มิถุนายน 2554
เป็นการเปลี่ยนสถานการณ์ที่ลบ….ให้กลายเป็นบวก…ได้ด้วยสติ และปัญญาค่ะ
เมื่อพิจารณาจากเรื่องทั้งหมดแล้ว แยกวิเคราะห์ออกได้เป็น ๒ ลักษณะใหญ่ กล่าวคือ ในมุมมองด้านสังคมและมุมมองของศาสนาในลักษณะปฏิบัตินิยม
มุมมองด้านศาสนา
..พบว่า ผู้ดำเนินเรื่องเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานาน เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็สามารถกำราบให้ระงับลงได้ ในที่นี้เขาประสบกับความโกรธจนตัวเองแทบไม่สามารถระงับมันได้ แต่เมื่อระลึกได้ มีสติควบคุม พิจารณาความโกรธที่เข้ามาครอบงำจิตใจ ความโกรธนั้นจึงระงับไปได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ดำเนินเรื่อง มิได้รู้จักพระพุทธศาสนาเพียงแค่ในคัมภีร์ แต่สามารถนำสิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนมาปฏิบัติแก้ไขในสถานการณ์ดังกล่าวได้ดี ซึ่งตรงกับหลักการของจอห์น ดิวอี้ นักปฏิบัตินิยม ที่มีความเห็นว่า “เมื่อมนุษย์ต้องพบปัญหาอยู่ตลอด การฝึกมนุษย์ให้แก้ปัญหาได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยให้ขจัดปัญหาที่มาขัดขวางการดำเนินชีวิตได้ และชีวิตนั้นก็จะอยู่รอดตลอดไป” พระพุทธศาสนามิได้เป็นศาสนาในคัมภีร์เท่านั้น แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีการถอดความจากคัมภีร์แล้วนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อไปสู่ความหลุดพ้นจากปัญหาหรือความทุกข์ เปรียบพระพุทธศาสนาเป็นดั่ง “สื่อหรือช่องทาง” รอให้ผู้ศึกษานำไปปฏิบัติใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตนต้องการ
พระพุทธศาสนาได้วางรากฐานในการแก้ปัญหาด้วยหลักธรรมที่ชื่อว่า “อริยสัจ ๔” โดยมี “ทุกข์” เป็นข้อต้น จะเห็นว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตอนแรกผู้ดำเนินเรื่องประสบกับภาวะเสียใจที่เห็นรถที่ตนหวงแหนถูกกรีดยางจนทำให้เกิดโทสะขึ้น แต่หลังจากนั้นเขาเกิดสัมมาสติทำให้ระงับความโกรธนั้นได้ จิตจึงเกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน เพราะระงับโทสะนั้นได้
เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวโทสะแล้ว นอกจากจะทราบว่า โทสะ เป็นไฟอันแรงกล้าแล้ว ยังพบว่า “โทสะ” เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่าบุคคลที่มิได้พบเจอกับตัวเองด้วยประสบการณ์ตรง แต่เมื่อโทสะนี้ถูกถ่ายทอดโดยวจนสัญลักษณ์หรือการบรรยายพูดคุย ทำให้โทสะนี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่ได้ยินและได้ฟังได้เช่นเดียวกัน เพราะเขาเหล่านั้นจะเกิดมโนภาพขึ้นในใจ เมื่อฟังเรื่องราวจากบุคคลหนึ่ง บุคคลนั้นย่อมถ่ายทอดความรู้สึกที่ตนมีผ่านกระบวนการทั้งหมดเพื่อให้ผู้ฟังรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นและเห็นพ้องกับทัศนะของตนในที่สุด จึงทำให้ “โทสะ” เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ได้นั่นเอง
พระบรมศาสดาทรงสอนว่า คนที่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความโกรธนั้น นับว่าเป็นคนเลวมากพออยู่แล้ว แต่คนที่ขาดสติยับยั้งชั่งใจปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในอารมณ์โกรธ แล้วแสดงอาการโกรธตอบคนที่เขาโกรธก่อนนั้น คนประเภทหลังนี้นับว่าเป็นคนเลวยิ่งกว่าคนแรกอีกเป็นทวีตรีคูณ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรเป็นทั้งคนเลวคนแรกด้วยการเป็นฝ่ายจุดไฟแห่งความโกรธขึ้นมาก่อน และไม่ควรเป็นทั้งคนเลวคนที่สองด้วยการเป็นฝ่ายเติมเชื้อไฟให้ลุกโพลงรุ่งโรจน์โชติช่วงขึ้นมาอีก
แต่อย่างไรก็ตาม ความโกรธเป็นสิ่งที่ระงับได้ด้วยพุทธวิธีต่างๆ เริ่มด้วยการมีสติระลึกรู้ตัว พิจารณาที่จิตที่อารมณ์ของตัวเอง อยู่กับลมหายใจ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ก็ได้ปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า หากมีใครเป็นฝ่ายโกรธเราขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่เราสามารถยับยั้งชั่งใจไว้ไม่โกรธตอบ ประคองตนอยู่ในอาการอันสงบ มีสติ ไม่คะนองกาย วาจา และใจ คนที่ทำได้เช่นนี้นับว่าเป็นผู้ชนะมหาสงครามที่เอาชนะได้แสนยาก หลวงปู่ติช นัท ฮัน แห่งหมู่บ้านพลัม ได้พูดไว้เสมอว่า “Happiness is here and now. You have to drop your worries.” หมายความว่า “ความสุขอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คุณต้องวางความกังวลต่างๆของคุณลง” กล่าวคือ การอยู่กับปัจจุบัน ละทิ้งความกังวลวุ่นวายนั้นเสีย
อีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนพบเห็นคือ การลดอัตตาตัวตน หรือ Ego ของตัวเองลง กล่าวคือ เมื่อคนทั้งสองได้ปรับความเข้าใจกันได้ ประเด็นที่หนึ่ง คุณดนัยซึ่งเป็นผู้เสียหาย ได้เข้าไปขอโทษคนเยอรมัน ประเด็นที่สอง คนเยอรมันได้เชิญบริษัทของคุณดนัยไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทของเขา ทั้งที่ตอนแรกคนเยอรมันมองว่า คุณดนัยไม่มีระเบียบวินัยจอดรถในที่ของเขา
ดังนี้แล้วจะเห็นว่า การศึกษาและฝึกฝนศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะศาสตร์ที่ชื่อว่า พุทธศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ให้คนมีสติอยู่กับปัจจุบัน พระพุทธศาสนาเป็นสื่อที่นำไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างเยี่ยมยอด สามารถนำไปแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำรงชีวิตในสังคมอันวุ่นวายได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จำเป็นสำหรับคนทั้งโลก
มุมมองด้านสังคม
ลักษณะของสังคมประการหนึ่งคือ “การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม” ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (social animal) เพราะฉะนั้นย่อมมีโอกาสสูงที่คนในสังคมจะเกิดการปะทะกันด้วยวาจา และด้วยกำลังทางกาย สาเหตุหลักของการกระทบกระทั่งกันในเหตุการณ์ดังกล่าว คือ การถือครองอาณาเขตของตน โดยคนเยอรมันก็มีอาณาเขตที่จอดรถส่วนตัวเป็นของตัวเอง แต่ในวันหนึ่งได้มีรถของคุณดนัยไปจอดทับเข้า คนเยอรมันจึงหวงแหนอาณาเขตของตน จึงกระทำการบางอย่างเพื่อเป็นการสั่งสอนคนที่มาจอดรถในที่ของตน
ในทางตรงกันข้าม ผู้ถูกกระทำของก็หวงแหนทรัพย์สินของตนที่ได้มาโดยชอบ กลับถูกกระทำให้เสียหายโดยผู้อื่น ผู้ถูกกระทำจึงเกิดความไม่พอใจที่ผู้อื่นทำให้ทรัพย์ของตนเสียหาย
ลักษณะของสังคมอีกประการหนึ่งว่า คนในสังคมย่อมมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กัน หมายถึง การที่บุคคลมาอยู่รวมกันจำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น คุณดนัยจึงเริ่มที่จะไปหาวิธีที่จะแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์แล้ว ถึงแม้ว่าทั้งสองท่านจะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เรื่องราวก็ทำให้คนทั้งสองกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันได้ อับราฮัม ลินคอร์น เคยกล่าวถึงวิธีการทำลายศัตรูของท่านว่า “วิธีกำจัดศัตรูที่ดีที่สุดในทัศนะของข้าพเจ้าคือ จงทำศัตรูให้กลายเป็นมิตรของท่านเสีย” พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. ได้กล่าวไว้คล้ายกันว่า “รักษามิตร Limit ศัตรู”
บุคคลทั้งสองคนถึงแม้อยู่ในช่วงเวลาและถิ่นฐานต่างกัน แต่มีความคิดเกี่ยวกับการผูกมิตรและทำศัตรูคู่อริให้เป็นมิตร นั่นแสดงว่า การเปลี่ยนศัตรูคู่อริให้เป็นมิตรนั้นเป็นหนทางไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การกำจัดทุกข์ ได้แก่ ทุกข์จากการมีศัตรู คุณดนัยจึงเริ่มกระทำการกำจัดศัตรูด้วยการเข้าไปขอโทษด้วยตนเอง และนำช่อดอกไม้ไปให้ศัตรู พร้อมฝากข้อความถึงคนนั้นว่า “เราอยู่ตึกเดียวกันน่าจะคุยกันได้ สาเหตุที่ทำให้ผมต้องไปจอดรถในที่ของเขาก็เพราะผมต้องรีบไปงานศพ” หลังจากนั้นไม่นานคนเยอรมันก็ได้นำตะกร้าผลไม้กับแชมเปญมาให้พร้อมแนบจดหมายสำนึกผิดมาด้วย อีกทั้ง เขาได้แสดงความเห็นว่า “คุณดนัยทำให้เขามองเห็นว่าทุกคนต่างมีเหตุผลในการกระทำของตนเองทั้งสิ้น” ต่อมาคนทั้งสอง ก็ได้ทำงานร่วมกันกลายเป็นว่า เรื่องดังกล่าว เริ่มต้นด้วยความบังเอิญ และจบลงด้วยการให้ กล่าวคือ คุณดนัยบังเอิญไปจอดรถในที่ที่เขามีเจ้าของ จบลงด้วยการให้อภัย
ภราดาฟ ฮีแลร์ นักกวีนิพนธ์ ได้กล่าวไว้ในวงวรรณกรรมสั้นๆแต่คมคายมากว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” เมื่อใดที่คนหนึ่งมองโลกในแง่หนึ่งซึ่งเป็นด้านมืด แต่ถ้าอีกคนหนึ่งมองโลกในแง่หนึ่งซึ่งเป็นด้านสว่าง คนที่มองโลกด้วยความสดชื่นเบิกบาน มองอย่างมีสติ คนๆนั้นย่อมรับประโยชน์จากความคิดของเขาได้โดยฉับพลัน เหมือนดังคุณดนัย ที่แสวงหาทางออกให้กับตัวเอง แสวงหาทางออกให้กับปัญหาที่ประสบ ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณดนัยได้แสวงหาหนทางออกร่วมกันกับคู่กรณี เพื่อหาทางออกให้กับสังคมเช่นกัน คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมเล็กๆ ที่ชื่อว่า สังคมแห่งการตื่นรู้.