เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสดูละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและกล่าวขวัญถึงของใครหลายคน ตัวเอกมีรูปเป็นทรัพย์ หน้าตาสะสวยโดดเด่น แม้จะมีฐานะไม่ร่ำรวย แต่ก็พอมีพอกิน และที่สำคัญเธอมีแม่ที่รักลูกยิ่งกว่าชีวิต
ปมที่ทำให้เรื่องราวดำเนินไปก็คือ ความคิดของตัวเอกที่ว่าทำไมเธอถึงไม่ร่ำรวย ไม่เกิดมามีหน้ามีตาในวงสังคมชั้นสูงเหมือนคนอื่น พร้อมกับดูถูกในอาชีพของบุพการีผู้ให้กำเนิดซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านและยามธรรมดา การกระทำทุกอย่างจึงถูกผลักดันด้วยความทะยานอยากไม่สิ้นสุด ทำให้จิตใจ “ร้อน” เหมือนมีไฟแผดเผาอยู่ตลอดเวลาและพาลลามไปเผาคนรอบตัว
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตโดยประมาท ขาด “ธรรมะนำทาง” จนทำให้หลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตแห่งทุกข์ บางคนต้องทนทรมานอยู่อย่างนี้ไปทั้งชีวิตเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถหาทางออกและค้นพบความสุขอันรื่นรมย์ที่แท้จริงในชีวิตได้
หลายคนอาจบอกว่า คนเราก็เป็นเพียงปุถุชนย่อมต้องมีรักโลภโกรธหลงบ้างเป็นธรรมดา ยังไม่ต้องพูดเรื่องบรรลุธรรมสูงสุดไปถึงขั้นนิพพาน แต่เรามาลองหยุดนิ่งใช้ความคิด ใช้สติ ใช้เหตุผลเป็นเครื่องชี้นำ ในยามที่ตกอยู่ในห้วงความทุกข์ ความเศร้า ความเสียใจกันดูบ้างดีหรือไม่ เพื่อให้ “รู้” เท่าทันการกระทำและอารมณ์ปัจจุบันของตัวเอง และสามารถดำรงชีวิตในแต่ละวันด้วยใจที่เป็นปกติสุข
ความ “ไม่รู้” นี้เองทำให้คนเรามีชีวิตอยู่เหมือนคนตาบอดตาฟาง มองไม่เห็นความจริง หรือรู้แต่เป็นการรู้แบบผิดๆ เข้าใจผิดๆ หลงปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ดังคำกล่าวที่ว่า เพราะโง่จึงยึด เพราะยึดจึงอยาก เพราะอยากจึงทุกข์ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ การ “รู้” เท่าทันทุกอารมณ์การกระทำปัจจุบัน หาไม่แล้ว เราอาจกลายเป็นบุคคลที่ล้มละลายทางใจ เหมือนกับนางเอกในละครที่กำลังฮอตฮิตในปัจจุบัน กลายเป็นผู้ไร้ที่พึ่งทั้งภายนอกและภายใน
เมื่อไม่เข้าใจสาเหตุของทุกข์ ย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหา พระพุทธศาสนานับว่ามีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์สอนให้เราใช้เหตุและผล ลงมือปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ความจริง ภายหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนไปทั่วดินแดนถึงกฎความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ 4 ข้อที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดจะหลีกพ้นได้ นั่นคือ
กฎของความเปลี่ยนแปลงหรือพระไตรลักษณ์ สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่มีสิ่งใดเป็นสาระ ไม่มีตัวตนแท้จริง กฎของการกระทำและผลของการกระทำหรือกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ปัจจุบันเป็นผลจากอดีต อนาคตเป็นผลจากปัจจุบัน กฎของเหตุแห่งทุกข์และหนทางการดับทุกข์หรืออริยสัจ 4 และกฎของผลและเหตุปัจจัยบ่งชี้ว่า ทุกสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยบังเอิญ หากแต่มีปัจจัยต่อเนื่องโยงใยถึงกันเป็นเหตุเป็นผลทั้งสิ้นที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เพื่อให้เราเข้าใจถึงสภาพจิตใจของมนุษย์
กองทุกข์ของคนเราไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาอะไร สาเหตุไหน เนื้อแท้แล้วมีรากเหง้ามาจากสาเหตุเดียวกันเป็นวงจร ซึ่งหากว่ากันตามหลักปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียดมีอยู่ด้วยกันถึง 12 ชั้นที่เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน และเมื่อลำดับย้อนกลับจึงเป็นการดับทุกข์ นั่นคือ
เพราะอวิชชา (ความไม่รู้) เป็นปัจจัย สังขาร (การปรุงแต่งของใจ) จึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ (การรับรู้ตาหูจมูกลิ้นกายใจ) จึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป (ร่างกายและจิตใจ) จึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ (ตาหูจมูกลิ้นกายใจ) จึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ (การสัมผัสด้วยประสาทต่างๆ) จึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา (ความรู้สึกทุกข์สุข) จึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา (ความอยาก) จึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน (ความยึดติด) จึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ (จิตที่มีตัณหาปรุงแต่ง) จึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ (การเกิดอัตตาตัวตน) จึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ ความโศกความคร่ำครวญทุกข์โทมนัสคับแค้นใจจึงมี
หากเราใช้ชีวิตโดยปฏิเสธหลักความเป็นจริงเหล่านี้ ย่อมไม่มีวันปล่อยวาง ไม่มีทางเติมเต็มหลุมดำในจิตใจ รู้สึกเหมือนตัวเองยังขาดยังพร่องอยู่ตลอด ความทุกข์จึงไม่มีทางหมดสิ้นไปจากจิตใจได้เลย
การฝึกปฏิบัติตนให้มีสติอยู่เสมอ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อที่จะทำให้ชีวิตของเรา “รู้” เท่าทันอารมณ์ปัจจุบัน ”ตื่น” จากความหลงในอารมณ์ และ “เบิกบาน” เมื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ในที่สุด
และที่สำคัญ จะทำให้ห่างไกลจากการเป็นผู้ล้มละลายทางใจ