ฉบับนี้เรากลับมาตั้งวงสนทนากันต่อกับเรื่องราวแห่งธรรมะในแบบฉบับของ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
รับประกันได้ว่าไม่ผิดหวังแน่นอน และถ้าจะให้สัมฤทธิ์เห็นผลในธรรมอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่า
ต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า ธรรมใดก็ไร้ค่า หากไม่ทำ
เมื่อถามต่อถึงพันธกิจในเรื่องของการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการหันมาทุ่มเทในเรื่องของธรรมะ
จะเป็นการสวนทางกันในเรื่องของธุรกิจหรือไม่นั้น ประเด็นในเรื่องนี้ “คุณดนัย” บอกกับเราว่า จริงๆ
ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย เพราะมันทำให้ตนเองหาจุดที่ลงตัวหรือจุดสมดุลได้ดีขึ้น “สมัยที่เรียนหนังสือ
เรามักถูกสอนว่าให้ “สร้างกำไรสูงสุด” ให้กับองค์กรให้กับผู้ถือหุ้น ถือเป็นหลักคิดที่เรียกว่า
ชอร์ตเทอมคือการมองในระยะสั้นแล้วก็คับแคบ แต่พอเรามีธรรมะ มันไม่ใช่หมายถึงว่าเราจะ
ไม่แสวงหาผลกำไรหรือเราจะไม่ทำให้องค์กรของเราประสบความสำเร็จแล้ว มันทำให้เราเห็นว่า
ชีวิตมันมีแง่มุมอีกหลายมุมที่เราจะต้องรับผิดชอบ”
จากที่เราต้องหมกมุ่นอยู่กับกำไรตัวเดียวเท่านั้น หรือดูแค่ตัวเลข มันทำให้เราได้เห็นตัว P ทั้งหมด
4 P ด้วยกันคือ
1.PEOPLE (คน) 2.PLANET (ทรัพยากร ธรรมชาติโลก กายภาพ)
3.PROFIT (กำไร) และตัวที่ 4 สุดท้ายคือ PLATION คือความศรัทธา ความมุ่งมั่น
ของเรา P ตัวที่หนึ่งแทนที่เราจะสร้างกำไรเฉพาะผู้ถือหุ้น หรือตัวเจ้าของ พอเรามีธรรมะแล้ว
มันทำให้เห็นว่าเราทั้งผองเป็นพี่น้องกัน เราสุขคนอื่นก็สุข เราทุกข์คนอื่นก็ทุกข์ แล้วมันไม่ได้จำกัดว่า
ผมเป็นหัวหน้าผมเป็นแบบนี้แล้วคนอื่นไม่มีสิทธิ์จะเหมือนกัน สุขทุกข์เป็น เหมือนกันหมด
สิ่งที่เราได้ทำมันทำให้เรากลับมาประมวลใหม่มีปัญญาขึ้นมาใหม่ก็คือ เราดูแลพนักงานของเรา
เหมือนพี่น้อง เหมือนกัลยาณมิตร ลูกหลานพนักงานก็เหมือนลูกหลานของเรา เราดูแลเขาเต็มที่
องค์กรของเราก็ต้องประสบความสำเร็จและมีกำไร ขณะเดียวกันเราก็ดูแลลูกค้าของเราเสมือน
เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา เป็นกัลยาณมิตร ถามว่าถ้าเรามีจิตแบบนี้ที่แท้จริง
บริษัทจะไม่ประสบความสำเร็จได้ยังไงในเมื่อเราต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับ ญาติผู้ใหญ่ของเรา
เราจะให้บริการก็ต้องบริการดีที่สุด เราจะผลิตสินค้า มีหนังสือออกมาก็ต้องเป็นหนังสือที่ดีที่สุด
เพราะเราได้เห็นความสำคัญของคน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการเอาเปรียบ ไม่โกหก ไม่ทำอะไรที่มันผิด
มีความเที่ยงธรรม ทุกคนก็ดีใจหรือว่ามีปฏิสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ก็ดีมากแล้วมันก็เป็นต้นทุนทางสังคม
เป็นเคล็ดลับ
ประธานฯ บริษัทดีซี คอนซัลแทนส์ฯ ยังเล่าให้เราฟังต่อว่าจากประเด็นดังกล่าวนี่เองที่ทำให้เกิด
แรงบันดาลใจให้เขา เขียนตำราที่มีชื่อว่า White Ocean Strategy ซึ่งขณะนี้แนวคิดดังกล่าวปัจจุบัน
ได้กระจายกระเพื่อมไป ไกลทั่วโลกแล้ว
หลักการก็คือการนำเอาหลักพุทธศาสนา มาใช้ในการบริหารธุรกิจ “เมื่อองค์กรเราเติบโตขึ้น เราก็ต้อง
หันมาเหลียวแลสังคม ดูแลว่าสังคมจะอยู่รอดไหม เพราะเราไม่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางการล่มสลาย
ของสังคม เคยมีคนสงสัยว่าการทำองค์กรเช่นที่ว่านี้จะทำ กำไรได้หรือ บอกได้เลยว่ากำไรเพราะเท่าที่มี
การสำรวจมา 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2011 ถึงปี 2007 พบว่าองค์กรสีขาวซึ่งมีระบบคุณธรรม จริยธรรม
ไม่มีองค์กรไหนที่กำไรน้อย เรียกว่ากำไรสูงหมด ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่กรอบความคิดของคน
ยังคงไปยึดติดอยู่กับโลกอุตสาห-กรรม โดยโลกในยุคอุตสาหกรรมเป็นการแข่งขันที่การผลิต
คีย์เวิร์ดของเขาคืออีโคโนมีออฟสเกล คือเน้นผลิตมากๆ ราคาต่ำๆ หาวัตถุดิบราคาต่ำ แรงงานต่ำ
ต้นทุนต่ำ ทำทุกอย่างต่ำไว้ก่อนจะได้ประหยัดต้นทุน ตรงนั้นถือเป็นกำไร ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว
ต้นทุนค่าแรงของเราก็แพง สิ่งที่เราทำคนอื่นเขาทำได้หมดแล้ว เกณฑ์การแข่งขันในโลกยุคปัจจุบัน
เขาแข่งกันที่ “สปีดออฟทรัสต์” ซึ่งก็คือความ เร็วในการที่จะเป็นที่ไว้วางใจของสังคม ไว้วางใจของลูกค้า
นั่นคือต้นทุนที่สำคัญ”
และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับหลักแนวคิด “องค์กรสีขาว” ในแบบฉบับของ
คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอน ซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง
คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ที่เรา เชื่อว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุน ส่งเสริมให้แพร่หลายในสังคมไทย
ตอนหน้าจะเป็นบทสรุปส่งท้ายในอีกบางประเด็นที่เราอยากให้ผู้อ่านได้ติดตามกันต่อ
รับประกันว่าคุณภาพยังแน่นเหมือนเดิม