การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบในปี 2558 นอกจากจะทำให้อาเซียนมีตลาด มีฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีแล้ว ยังขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศสมาชิกให้สะดวกและมีศักยภาพในการแข่งขัน กับโลก ทำให้อาเซียนเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจ ทัดเทียมจีนและอินเดีย
ไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเร่งปรับตัวเพื่อดึงดูดการค้า การลงทุน และการบริการจากต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ทั้งภาคบริการ ท่องเที่ยว ค้าปลีก และ Logistics ด้วยปัจจัยที่ไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน เชื่อมระหว่างอาเซียนเก่า (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) และอาเซียนใหม่ (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
แม้เราจะมีความได้เปรียบหลายด้านในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่จะนิ่งนอนใจไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้แต่ละประเทศมีการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ไทยจะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั่นเอง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่จะรองรับการเปิดประตู สู่ชุมชนขนาดใหญ่ 620 ล้านคน และส่งเสริมให้คนไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 62 ล้านคนออกไป เอาประโยชน์จากอาเซียน
เริ่มที่ภาครัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดึงเม็ดเงินลงทุน ด้วยการดูแลการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ลดกฎระเบียบที่มีความซับซ้อน ปรับโครงสร้างภาษีให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างภาษีของไทยมีการจัดเก็บ ในอัตราที่สูง เป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนจากต่างประเทศ ความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบ Logistics รองรับการลงทุน
และสิ่งที่น่ากลัวตอนนี้ คือ พม่ากำลังจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย จากการเปิดประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเฉพาะ ซึ่งพม่าจะกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ และนำมาซึ่งการลงทุนในหลายด้าน ด้วยปัจจัยที่พม่ามีทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมาก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) เพียง 1 ใน 11 ของประเทศไทย มีพื้นที่มากกว่าไทยถึงร้อยละ 20 และหากการเมืองในพม่ามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น พม่าจะกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพน่าลงทุนมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้
แนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นของพม่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับตัวโดยเร็ว โดยเฉพาะด้านแรงงานที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานพม่าอยู่อย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายกว่า 4-5 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าแรงงานพม่าเหล่านี้จะเดินทางกลับถิ่นฐานเพื่อกลับไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในพม่า และการบริหารจัดการด้านการลงทุนที่เปลี่ยนไปตามปัจจัยที่ได้รับผลกระทบด้านแรงงาน
ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยเพิ่มขึ้น พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี ในขณะเดียวก็ต้องพัฒนาด้านภาษาไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทย มีปัญหามากในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ในขณะที่พม่าสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ได้เป็นอย่างดี
การดูเทรนด์งานจากเว็บไซต์จัดหางานออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แรงงานไทยจะสามารถศึกษาเทรนด์ตำแหน่งงานและคุณสมบัติที่ตลาดต้องการได้ เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งในโลกออนไลน์ มีความกว้างไกลและเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แรงงานไทยจะได้มีโอกาสร่วมทำงานกับต่างชาติมากขึ้น อย่างเช่นในเว็บไซต์ JobsDB.com ที่ให้บริการสมัครงานออนไลน์ใน 12 ประเทศ ทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก เป็นต้น
ซึ่งในบรรดา 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เมื่อพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบในแง่ต่างๆ แล้ว สิงคโปร์มาอันดับหนึ่ง ตามด้วยมาเลเซียและไทย จากนั้นก็อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยอินโดนีเซียอาจจะได้เปรียบตรงที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า แต่ฟิลิปปินส์ได้เปรียบตรงภาษา
มาดูประเทศไทยว่าเรามีอะไรโดดเด่นที่น่าจะใช้เป็นข้อได้เปรียบบ้าง
ในแง่ของธุรกิจอุตสาหกรรม ไทยเรามีความพร้อมและเชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยว โรงแรม สุขภาพ และความงาม นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปอาหารเราก็เก่งหลายเรื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ใช้ได้ในแง่การผลิต เฟอร์นิเจอร์ก็ไปได้ดี จึงเป็นไปได้ที่นักธุรกิจไทยจะขยายอาณาจักรการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้าง ต่ำกว่า
ในอนาคตข้างหน้า ไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีแรงงานราคาแพงขึ้น ดังนั้นเรื่องแรงงานราคาถูกจะไม่ใช่จุดขายของเราอีกต่อไป เราจะต้องแข่งขันเรื่องคุณภาพและฝีมือที่เหนือกว่าแทน ซึ่งในประเด็นนี้ก็น่าเป็นห่วงเพราะแรงงานมีฝีมือเป็นสิ่งที่หายากในประเทศของเราและประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน
อีกเรื่องที่น่ากลัวคือ แรงงานที่มีฝีมือจะโดนแย่งตัวโดยสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนไทยเราก็ต้องพยายามรักษาแรงงานฝีมือของเราไว้ให้สุดชีวิต เคล็ดลับก็คือ ต้องรักษาพนักงานฝีมือดีของเราเอาไว้ให้เต็มที่ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว คนไทยเราชอบที่จะอยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนมากกว่า เพราะอยู่เมืองนอกอาหารอะไรก็ไม่ถูกปาก สภาพอากาศ ก็ไม่คุ้นชิน คนไทยเราติดบ้าน ถ้าไม่ดีกว่าจริงๆ ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านไปหรอกครับ
ส่วนเรื่องแรงงานระดับมันสมองมีแนวโน้มสูงมากที่เราจะสูญเสียแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ให้กับสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่มีอำนาจจ่ายสูงกว่า ทางแก้หรือทางป้องกันนอกจากเรื่องของเงินเดือนก็คือ การพยายามชักจูงให้ต่างชาติมาร่วมทุนหรือลงทุนเปิดธุรกิจการแพทย์ การเงินและการวิจัยพัฒนาต่างๆ ในประเทศไทย
นอกจากจะเป็นการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ยังจะได้รักษาคนและพัฒนาคนของเราพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่โตขึ้น เรื่องของการไหลเข้าไหลออกของแรงงานย่อมเป็นไปตามอุปสงค์อุปทานภายในภูมิภาค การปรับปรุงเรื่องการสรรหา รักษาและพัฒนา HR ก็อาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่คงยากที่จะต้านแรงของอุปสงค์อุปทาน
ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในการก้าวไปสู่ AEC เวลานี้ จึงอยู่ที่ความกล้า ความพร้อม ความแข็งแกร่งของภาคสาธารณะ รวมทั้งรัฐบาล นักการเมือง ราชการ ภาคธุรกิจ ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ ไปจนถึงบริษัทขนาดกลาง เล็ก รวมถึงตัวบุคคล ที่จะจับมือกันปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องภาษาอังกฤษ แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการเพื่อให้คนไทยวิ่งได้เร็ว ไม่ตกขบวน AEC ในปี 2558
ไม่อยากตกขบวน ต้องรีบแล้วละครับ
ที่มา : สัมมามาร์เก็ตติ้ง (ดนัย จันทร์เจ้าฉาย) Brand Age Magazine