โดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
อีกไม่ถึง 3 ปี ประเทศไทยจะก้าวสู่การผนึกกำลังเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อันจะนำมาซึ่งโอกาสอันมหาศาลสำหรับภาคธุรกิจในการขยายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายไหลเวียนของสินค้า บริการ ทุน และแรงงาน เกิดขึ้นได้อย่างเสรี
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายให้องค์กรธุรกิจไทยทุกระดับ นับตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการค้าการลงทุนและปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของเราในรูปแบบใหม่
ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ชาติพันธุ์ รวมถึงระบบเศรษฐกิจของทั้ง 10 ประเทศ อาเซียนจึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เรียกว่า ภูมิทัศน์สื่อ (media landscape) หรือการเลือกใช้สื่อประเภทต่างๆ ยังมีความหลากหลายและมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าภูมิภาคใดในโลก
กุญแจสำคัญของการที่ธุรกิจไทยจะประสบความสำเร็จในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ การเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ และหนึ่งในสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมมากที่สุดคือการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเลือกใช้สื่อที่หลากหลายให้เป็นประโยชน์
ผู้บริหารระดับสูงหลายท่านเป็นห่วงว่าไทยยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะมาพร้อมกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่หลายท่านเลือกที่จะเตรียมพร้อมรับสภาพแวดล้อมใหม่อย่างกระตือรือร้น
สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาด ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นโอกาสสำคัญในการสนับสนุนผู้บริหารองค์กรธุรกิจให้สามารถสื่อสารและบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่มาถึงได้ ด้วยบริการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับผู้บริหารแต่ละท่าน เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารกับพนักงาน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า รวมถึงภาครัฐ เพราะนักสื่อสารมืออาชีพเท่านั้นที่จะสามารถยืนอยู่แถวหน้าในการเข้าสู่ยุคใหม่ของอาเซียน
นี่คือหน้าที่ของธุรกิจประชาสัมพันธ์ในการเตรียมความพร้อมแก่ลูกค้าให้สามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการที่ภาษาอังกฤษจะกลายเป็นภาษากลางของอาเซียน แม้ว่าคนไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มพูนทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษขึ้นไปอีกมากเพื่อความได้เปรียบในตลาดแรงงานและเพิ่มโอกาสเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน
เมืองไทยมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรม การเงิน การแพทย์ ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม ทักษะความสามารถและจรรยาบรรณในอาชีพทำให้คนเหล่านี้เป็นที่ต้องการขององค์กรต่างๆ จากทั่วโลก เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างอิสระแล้วจึงเป็นความท้าทายของบริษัทไทยที่จะต้องเริ่มคิดไว้ก่อนว่าจะทำอย่างไรในการแสวงหาและรักษาบุคคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่กับองค์กรต่อไป
กลยุทธ์การสื่อสารเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังบูมเช่นนี้ ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์หรือพีอาร์มืออาชีพจึงต้องเป็นผู้นำในการกระตุ้นให้ลูกค้าตระหนักถึงความเป็นดังกล่าว และนำเรื่องของการเสริมสร้างความเข้าใจว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จะมีผลอย่างไรกับบริษัท ปัจเจกบุคคล และสังคมโดยรวม มาเป็นวาระอันดับแรกขององค์กร
บริษัทประชาสัมพันธ์ในอาเซียนมีภารกิจในการพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารและนำความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสื่อสารไร้พรมแดนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อันที่จริงบริษัทพีอาร์และสื่อสารการตลาดชั้นนำหลายแห่งของไทยมีประสบการณ์ในการทำงานระดับอาเซียนมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว ด้วยการทำแคมเปญที่ข้ามพรมแดนของประเทศไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค รวมถึงประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่ไม่ใช่พันธมิตรที่ใกล้ชิดหรือบริษัทในเครือของตน
ดังนั้น การผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญจากนานาชาติและการผนึกกำลังกับบริษัทประชาสัมพันธ์และการตลาดชั้นนำของไทยหรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จะทำให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายที่จะมาพร้อมกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเป็นผู้นำระดับภูมิภาคและนำความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทยและคนไทย รวมถึงเสริมสร้างให้อาเซียนกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจนภูมิภาคอื่นในโลกต้องอิจฉา
ที่มา : http://www.dcconsultants.co.th/site/news/2012-05-31(3).html