การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ของประเทศสมาชิกที่มีอยู่ 10 ประเทศในปี 2558 นี้ กำลังจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชีย เพราะอาเซียนถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันถึง 613 ล้านคน มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเป็น AEC คือ การรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน บรรยากาศการค้าและการลงทุนมีเสรีมากขึ้น เส้นทางคมนาคมขนส่งในภูมิภาคเชื่อมโยงกันหมด มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกที่เสมอภาค มีการเชื่อมโยงกับประเทศภายนอก โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน
ขณะที่โอกาสทางการค้าและการลงทุนจะมีการขยายช่องทางและโอกาสของสินค้าไทยในการเข้าถึงตลาดอาเซียนมากขึ้น และมีปริมาณสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นหลากหลาย ขณะเดียวกัน ก็เกิด Economy of scale ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและภาคการผลิต เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้า นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุนการผลิตจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าที่ใช้ในการผลิต ในราคาถูกลง ทำให้ราคาสินค้าถูกลง
ที่จะเห็นแน่ๆ คือ การสร้างงานใหม่ในทุกอุตสาหกรรม มีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าและบริการ ขณะที่เศรษฐกิจรวมก็เพิ่มความแข็งแกร่ง ให้เครือข่ายธุรกิจในอาเซียน เสริมสร้างความเจริญเติบโตและความสำเร็จในภูมิภาค ด้วยการพัฒนาบุคลากรและเพิ่มคุณภาพของคนงาน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ เพิ่มอำนาจการซื้อสินค้าและบริการ และส่งเสริมความมั่นคงของสังคมทั้งภูมิภาค
สำหรับเศรษฐกิจไทยในอาเซียน มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณ 10 ล้านล้านบาท ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย หากไทยต้องการรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับอาเซียนได้ ก็ต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป
เพราะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้มีแต่โอกาสเท่านั้น หากแต่ยังมีความท้าทายอื่นๆ อาทิ ทรัพยากรร่อยหรอ เนื่องจากมีการลงทุนเพื่อใช้ทรัพยากรมากขึ้น จำนวนผู้บริโภคภายในประเทศมีจำกัด คู่แข่งขันและสภาพการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณภาพต่ำเข้ามาวางจำหน่ายในไทยมากขึ้น นักลงทุนต่างชาติอาศัยสิทธินักลงทุนสัญชาติอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย แรงงานลดลงจากการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือของไทยไปประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า เป็นต้น
ดังนั้นไทยจึงควรสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการรุกตลาดสินค้าที่ไทยได้เปรียบและขยายตลาดตามกรอบความร่วมมือใหม่ๆ เน้นท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ ซึ่งไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และพร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เพิ่มพูนทักษะแรงงาน โดยเฉพาะด้านภาษาและการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวในการบริหารจัดการด้านต้นทุนและลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งสร้างและพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา ให้มีคุณภาพ เชี่ยวชาญในสายงาน มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน ตลอดจนเทคโนโลยี ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน (Spirit of ASEAN) โครงการเครือข่ายสหกิจศึกษา โครงการพัฒนาบุคลากรทางด้านภาษา โครงการพัฒนาวิชาอาเซียนศึกษา โครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนเอกชน อาชีวศึกษา การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีวศึกษาเทคนิคและวิชาชีพแก่เยาวชน โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในอาเซียน ตลอดจนการจัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับชาติและภูมิภาค
ล่าสุด ได้มีความพยายามปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานไทยให้มีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มุ่งเน้นเพิ่มพูนทักษะการสังเกต คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทดลอง ใช้สถิติในการคำนวณ การแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต
ข้อมูลที่น่าตกใจ คือ ร้อยละ 75 ของนักเรียนหลักสูตรพื้นฐาน 12 ปี เมื่อจบมัธยมแล้วไม่ได้เรียนต่อ มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
อย่าลืมว่า ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกอาเซียนในการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีใน 7 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร นักสำรวจ นักบัญชี และสถาปนิก จะทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นในจ้างแรงงานในสาขาอาชีพเหล่านี้ ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องใช้ความพยายามในการผลิตบัณฑิตให้ออกมาตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานเหล่านี้
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และ Teachers College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา จัดทำกรอบมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้เหมาะสม ชัดเจน และสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผล เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน และส่งเสริมให้เด็กไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นทัดเทียมนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน พูดง่ายๆ คือ มุ่งผลิตแรงงานให้มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานนั่นเอง
ในขณะที่อีกหลายปัจจัยที่จะช่วยให้ไทยได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ได้แก่ การนำเข้าวัตถุดิบ สินค้า กึ่งสำเร็จรูปและทรัพยากรราคาถูกจากประเทศสมาชิกอาเซียน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า เดินหน้าพัฒนาและแปรรูปสินค้าและบริการให้มีความหลากหลายตามมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และดำเนินกลยุทธ์การตลาดในเชิงรุก เจาะตลาดคู่ค้าของอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีกับประเทศคู่เจรจา
นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและต่อต้านโลกร้อน รวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ศึกษากฏระเบียบและเงื่อนไขด้านการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับกฏถิ่นกำเนิดสินค้าและมาตรฐานอาเซียน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดการการผลิตและต้นทุน และการดำเนินธุรกิจ พัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค
กล่าวโดยสรุปได้ว่า AEC นำมาซึ่งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และช่วยยกระดับให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้น หรือเป็น ASEAN Hub ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะต่อ SMEดังนั้น ธุรกิจไทยต้องพยายามเจาะกลุ่มตลาดและกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยใช้แก่นความสามารถ (core competence) เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมและเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ
Marketeer