พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามเบื้องพระยุคลบาท
ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทรงงานอย่างหนักเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย และทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมในการพัฒนาคน จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติ โดยนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” หรือ UNDP Human Development Lifetime Achievement จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 โดยทรงเป็นพระองค์แรกในโลกที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศดังกล่าว
แม้ว่าพระองค์ได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระราชดำริ พระบรมราโชวาท และการครองพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพยังเป็นแบบอย่างให้แก่เราชาวไทยทุกคน ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมรู้สึกปลาบปลื้มจนเรียกได้ว่าถึงขั้นน้ำตาคลอ ที่ได้มีโอกาสได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งใน 36 องค์กรและหรือบุคคล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” (Human Resource Excellence Award) ในวาระครบรอบ 36 ปีของการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทางสถาบันฯ มอบให้แก่ บุคคลและหรือองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ด้านทรัพยากรมนุษย์อย่างโดดเด่นและต่อเนื่อง มีคุณูปการต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย โดยรางวัลดังกล่าวเป็นโล่ประกาศเกียรติคุณ และเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ 9 ที่ถวายพระเกียรติ “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จาก UNDP เมื่อปี 2549
องค์กรและบุคคลที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินี้ ได้แก่ องค์กรภาครัฐ 1. คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2. สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย และ 3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรเอกชน ได้แก่ 4.LINE Company (Thailand) องค์กรการกุศล ได้แก่ 5. มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย 6. มูลนิธิไทยรัฐ และ 7. วัดพระบาทน้ำพุ บุคคลภาครัฐ ได้แก่ 8. ศจ.พิเศษ เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 9. ศจ.ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 10. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ – กสทช 11. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 12. ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 13. นายพารณ อิศรเสนา ณ อยูธยา ผอ.ใหญ่ ดรุณสิกขาลัย 14. นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 15. นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต 16. ศจ.พิเศษ สมพงษ์ จุ้ยศิริ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ 17. นายสวัสดิ์ โชติพานิช ประธานกรรมการกฤษฎีกาและอดีตประธานศาลฎีกา
บุคคลภาคเอกชน ได้แก่ 18. นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย 19. นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บ.บ้านปู 20. นายชำนาญ พิมลรัตน์ รองประธานอาวุโส BLCI Group 21. ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บ. ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น 22. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. 23. นายธัญญา ผลอนันต์ วิทยากรที่ได้รับอนุญาตสอน Mind Map คนแรกของไทย 24. นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธ. กสิกรไทย 25. นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล
- ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ กรรมการผู้จัดการ บ. อริยชน 27. ดร. วิสุทธิ วิทยฐานกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บ. น้ำมันพืชไทย 28. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น 29. นายสมพงศ์ นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล 30. ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุด รร. สัตยาไส 31. นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล องค์กรเพื่อสังคม ได้แก่ 32. นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น 33. พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย 34. ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา 35. นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธิ นวัตกรรมทางสังคม และ 36. นายวิชิตพล ผลโภค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
ในงานสำคัญนี้ มีบุคคลต้นแบบหลายท่านได้รับเชิญให้มาแสดงปาฐกถาพิเศษ ท่านแรกที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง คือ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ถวายงานใกล้ชิดตลอดระยะเวลา 35 ปี ท่านเล่าว่า “วันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่พระอาจารย์ทรงหยุดสอน แต่ทรงสอนมาพอแล้ว…70 ปี พระองค์ท่านสอนว่า
มองทุกอย่างที่ฉันทำ…
จดทุกอย่างที่ฉันพูด…
สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด….”
เนื่องจาก ดร. สุเมธฯ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ จากฝรั่งเศส แต่ต้องทำงานเกี่ยวกับน้ำ ดิน พืช เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบท ทั้งๆ ที่ท่านไม่มีความรู้ด้านดังกล่าวเลย พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานคำสอนแก่ ดร. สุเมธฯ ว่าให้มองทุกอย่างที่ฉันทำ คือ ให้รู้จักสังเกต มองภาพรวมและตั้งคำถามกับตนเองว่า “ทำไม” จดทุกอย่างที่ฉันพูด เพราะพระองค์ท่านทรงจดทุกอย่างด้วยกล้องถ่ายรูป แผนที่และสมุดโน้ต และทรงสอนให้ ดร.สุเมธฯ ปฏิบัติตาม สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด คือ ต้องเข้าใจในพระวิสัยทัศน์ และจินตนาการที่พระองค์ทรงทำ
อีกท่านที่กล่าวในงาน และผมอยากให้คนไทยทุกคนได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่ไม่ใช่แต่ที่เราได้เห็นจากสื่อทั้งหลาย แต่พระองค์ทรงปิดทองหลังพระอีกมากมายตลอดพระชนม์ชีพ ท่านองคมนตรี พลากร สุวรรณรัฐ เล่าว่า “เมื่อ 5 ปีก่อน พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้องคมนตรี 5 – 6 ท่านเข้าเฝ้าฯ ที่โรงพยาบาลศิริราช ทั้งที่ยังทรงพระประชวร ทรงรับสั่งให้องคมนตรีเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ อย่างเงียบๆ” พระองค์ทรงให้องคมนตรีไปสร้างห้องน้ำ ห้องพักครูให้กับครูตามชนบท เพราะมีพระราชประสงค์ให้ครูมีกำลังใจด้านการสอนมากขึ้น ขณะที่ครูชนบทต้องอยู่อย่างลำบากกว่าครูในกรุงเทพฯ และอีกภารกิจที่องคมนตรีต้องทำ คือ หาเด็กดี ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่พระองค์รับสั่งให้พระราชทานทุนแก่เด็กดีที่ยากจน ให้เรียนจนจบระดับมหาวิทยาลัย ทั้งสองภารกิจนี้ ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เบื้องต้น 200 ล้านบาท และยังทรงรับสั่งว่าหากทุนหมด ก็ให้องคมนตรีมากราบทูลฯ เพราะมีพระราชประสงค์จะเพิ่มให้เรื่อยๆ เท่าที่เพียงพอ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพราะทรงเน้นการสร้างเด็กดี และต้นแบบที่ดีๆ แก่เด็ก คือครูที่ดีด้วย ที่สำคัญคือ ให้ดำเนินการโดยไม่ต้องให้ครูและนักเรียนเหล่านั้นทราบว่า เป็นทุนพระราชทานแต่อย่างใด
ท่าน ว. วชิรเมธี หนึ่งในบุคคลที่ได้รับรางวัลฯ ได้กล่าวถึงการพัฒนาของคนไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนเราจะพัฒนาได้ ต้องมี วิชชา และ จรณ” วิชชา คือ ความเก่ง และ จรณ คือ ความดี จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ บวกกับมีภาวะผู้นำ บุคคลนั้นจะช่วยพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปได้
วันนี้ ถึงแม้ไม่มีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ อยู่กับพวกเรา แต่ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า คนไทยทุกคนพร้อมที่จะก้าวเดินตามรอยพระยุคลบาท และน้อมนำสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานสอนมาตลอด 70 ปี เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยให้มั่นคงยั่งยืน เพื่อลูกหลานไทยต่อไป.